จากไชต์: เว็บไซต์ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยกระดับเจตจำนงทางการเมือง
จำนวนผู้เข้าชม: 624
การทุจริตในสังคมไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลเสียต่อประเทศไทยอย่างมหาศาลและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในทุกมิติ รูปแบบการทุจริตจากเดิมที่เป็นการทุจริตทางตรงไม่ซับซ้อน อาทิ การรับสินบน การจัดซื้อจัดจ้าง ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นการทุจริตที่ซับซ้อนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การทุจริตเชิงนโยบาย การทุจริตข้ามแดนข้ามชาติ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่อาชญากรรมอื่นๆ มากมาย และส่งผลกระทบทางลบในวงกว้าง ปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งรัฐธรรมมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ สะท้อนให้เห็น ได้อย่างชัดเจนถึงสภาพปัญหาดังกล่าว และบัญญัติไว้ใน มาตรา ๒๕๘ (2) และ (3) ให้มี การดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้านการเมือง ดังต่อไปนี้
1.ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
2.มีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่มาของการนำนโยบายของพรรคการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและต่อต้านการทุจริตที่พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในระบบรัฐสภา ที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา นำมาเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนผลักดันให้ นักการเมืองแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต
ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ ๒ ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต ให้มีการแสดงเจตจำนงตามตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ ดังนี้
1. มีการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตของนักการเมืองต่อสาธารณชน
2. ส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแลและควบคุมการดำเนินงานตามเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริตของนักการเมืองที่ได้แสดงไว้ต่อสาธารณชน