Contrast
Font
8418dd9426597d9584c02fc66830f4b9.jpg

สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดข้อตกลงร่วมตามแนวทางยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ในประเด็น “ความเสี่ยงต่อการทุจริตในการอนุมัติ อนุญาต”

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 200

28/11/2565

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็น “ความเสี่ยงต่อการทุจริตในการอนุมัติ  อนุญาต” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ด้วยกลไกสหยุทธ์ (The STRONG Together against Corruption (TaC Team) to enhance Corruption Perceptions Index : CPI) มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานผู้ปฏิบัติในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดข้อตกลงร่วมในการดำเนินการตามแนวทางการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจากนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิด ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

 

นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวในช่วงหนึ่งของพิธีเปิดว่า “การประเมินคะแนนดัชนี CPI เป็นการประเมินการรับรู้ หรือ Perceptions ของกลุ่มบุคคล ทั้งจากภาคธุรกิจและภาคส่วนอื่น ๆ ซึ่งมีทั้งที่เคยได้รับประสบการณ์การทุจริตโดยตรงด้วยตนเอง และโดยทางอ้อมผ่านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งประสบการณ์การทุจริตที่ว่านั้น อาจจะเกิดขึ้นในส่วนงานใดส่วนงานหนึ่ง หรือกระบวนงานและขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งในหน่วยงานของรัฐ จากการศึกษาของสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. และสถานบันทางวิชาการต่าง ๆ ล้วนสรุปตรงกันว่า กระบวนการอนุมัติ อนุญาต ของหน่วยงานของรัฐ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตได้มาก และส่งผลกระทบต่อการรับรู้การทุจริตของกลุ่มเป้าหมาย CPI ได้ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีหน่วยงานจำนวนมากเกี่ยวข้องในกระบวนงานนั้น ๆ อาจมีช่องว่างที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทุจริต หรือทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นผลดีต่อราชการได้”

 

การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้หยิบยกปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการอนุมัติ อนุญาต 2 ประเด็นหลัก เพื่อระดมความคิดเห็นและกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ได้แก่

 1) ความเสี่ยงต่อการทุจริตในการอนุมัติ อนุญาตก่อสร้างอาคาร โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมประชุมให้ความคิดเห็น ประกอบด้วย นางฉวีวรรณ นิลวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะ สำนักงาน ป.ป.ท. และนายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ กรรมการอำนวยการด้านมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช.

 2) ความเสี่ยงต่อการทุจริตในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วย ความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตการทำอุตสาหกรรมแร่ ความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการดูดทราย และความเสี่ยงต่อการทุจริตในกระบวนการอนุญาตขุดดิน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมประชุมให้ความคิดเห็น ประกอบด้วย นายสมเกียรติ ถนอมกิตติ อดีตรองอธิบดีกรมที่ดิน และนายวรัชย์ ชวพงศ์ กรรมการอำนวยการด้านมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช.

 

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท. ได้กำหนดจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันเพื่อระดมความคิดเห็นในประเด็นอื่น ๆ อีก ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสินบน ประเด็นการขัดขันแห่งผลประโยชน์ ประเด็นการตรวจสอบและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ และประเด็นความโปร่งในการระบบงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่เชื่อมโยงกับการยกระดับค่า CPI ของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้งหมดเกิดเป็นข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

Related