Contrast
Font
0e14bff69a01f36d6b2afc90bfcdefa7.jpg

ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 37001 สำหรับต่อต้านการให้และรับสินบนในหน่วยงานภาครัฐ เห็นควรนำร่องในหน่วยงานภาครัฐที่สมัครใจหรือพิจารณาเลือกส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 201

19/12/2565

วันนี้ (19 ธันวาคม 2565) สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการภายใต้โครงการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ด้วยกลไกสหยุทธ์ (The STRONG Together against Corruption (TaC Team) to enhance Corruption Perceptions Index : CPI) หัวข้อ "ISO 37001 : 2016 กับการแก้ไขปัญหาการทุจริต ประเด็นสินบน" ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

 

ภาคเช้ามีการเสวนา หัวข้อ "ระบบมาตรฐาน ISO 37001 : 2016 กับ การป้องกัน ตรวจจับ และจัดการกับปัญหาสินบนของประเทศไทย" โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ประกอบด้วย 1) นางฉวีวรรณ นิลวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะ สำนักงาน ป.ป.ท. 2) นายศักดิ์ชัย  จันทร์แสงวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง สำนักงาน ป.ป.ช. 3) นางอุทุมพร แก้วน้ำดี  ผู้อำนวยการกลุ่มกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบรับรองและระบบการจัดการ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และ 4) นางสาววิศรา

รัตนสมัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

โดยวิทยากรได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) การให้และรับสินบน การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) การประกาศ No Gift Policy ของหน่วยงานต่าง ๆ และระบบมาตรฐาน ISO 37001 รวมถึงแนวทางการประยุกต์ใช้ระบบดังกล่าวกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนด มอก. 37001 : 2560 โดยรับ ISO 37001 : 2016 มาใช้เหมือนกันทุกประการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 95 ง วันที่ 26 เมษายน 2561 ส่วนการประยุกต์ใช้กับหน่วยงานภาครัฐนั้นวิทยากรเห็นว่ามีความเป็นไปได้ และเห็นควรมีหน่วยงานนำร่องซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันทั้งหน่วยงาน โดยอาจพิจารณาเริ่มจากส่วนงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการให้และรับสินบน

 

ส่วนในภาคบ่าย เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ "ข้อกำหนดตามระบบมาตรฐาน ISO 37001 : 2016 ที่หน่วยปฏิบัติควรรู้"  โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย 1) นางฉวีวรรณ นิลวงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะ สำนักงาน ป.ป.ท. 2) นางอุทุมพร แก้วน้ำดี  ผู้อำนวยการกลุ่มกำหนดมาตรฐานการตรวจสอบรับรองและระบบการจัดการ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และ 3) นางสาวนัทธ์หทัย สงบพันธ์ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

 

วิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้ระดมความคิดเห็นต่อ “ข้อกำหนดตามระบบมาตรฐาน ISO 37001 : 2016” โดยพิจารณาข้อมูลการดำเนินการขององค์กรในส่วนที่เกี่ยวข้อง และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ ตามรายละเอียดข้อกำหนด ISO 37001 : 2016 ข้อ 4 - 10 ได้แก่ บริบทขององค์กร ความเป็นผู้นำ การวางแผน การสนับสนุน การดำเนินการ การประเมินสมรรถนะ และการพัฒนา

 

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะนำข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ไปวิเคราะห์และพัฒนาแนวทางเพื่อส่งเสริมให้มีการนำระบบมาตรฐาน ISO 37001 : 2016 ไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างความโปร่งใส ลดการให้และรับสินบน และยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ต่อไป

Related