จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 6448
ป.ป.ช. ย้ำ “รถหลวงไม่ใช่รถเรา” ใช้งานตามความเหมาะสม และไม่แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตน เพราะเข้าข่ายทุจริต เผย กรณีศึกษาบทเรียนราคาแพงที่กู้อนาคตกลับคืนมาไม่ได้ อดีตนายกเทศมนตรีดอยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ นำรถเทศบาลไปขนวัสดุก่อสร้างในงานรับจ้างส่วนตัว ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก18 ปี 24 เดือน ไม่รอลงอาญา
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าว ว่า “รถหลวง ของหลวง หรือรถประจำตำแหน่ง” เป็นยานพาหนะที่ให้ใช้ในการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายโดยชอบ หรืองานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับงานในตำแหน่งหน้าที่ หรือฐานะที่ดำรงตำแหน่งนั้นรวมตลอดถึงการใช้เพื่อเดินทางไป - กลับระหว่างที่พักและสำนักงาน และเพื่อการอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ แต่ต้องไม่ใช่เพื่อกิจส่วนตัว หรือเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว เข้าข่ายมีความผิดทั้งอาญา และผิดวินัยร้ายแรง ดังเช่นกรณีที่เป็นข่าว อดีตนายกเทศมนตรีตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ กับพวก นำรถของเทศบาลไปขนวัสดุก่อสร้างในงานรับจ้างส่วนตัว ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 ทั้งนี้ ความผิดตามมาตรา 151 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตาม มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 18 ปี 24 เดือน
จะเห็นได้ว่าการนำรถหลวงไปใช้แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวถือว่าเข้าข่ายทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งมีอัตราโทษสูงตามมูลฐานความผิด คือ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
และยังผิดตามมาตรา 157 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น นอกจากหมดอนาคตสูญเสียหน้าที่การงานแล้ว ยังต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐควรพึงตระหนักในเรื่องของจรรยาบรรณ และหลักปฏิบัติในการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ดี วางตนด้วยความสุจริต โปร่งใส และไม่คิดแต่เพียงว่า “เรื่องแค่นี้ไม่เป็นไร” เพราะความผิดที่ได้รับนั้น ถือเป็นความผิดร้ายแรง ที่ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ตัวได้