Contrast
8e9c63334d4c77fba83fe6d09618efd9.jpg

ปักหมุดงบแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน PM 2.5 ป.ป.ช. เชียงใหม่ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ข้อเสนอแนะและแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริต

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่
จำนวนผู้เข้าชม: 25

16/05/2568

เมื่อวันที่ 30 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2568 นายนิรันดร ศรีภักดี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต และกลุ่มงานประสานการป้องกันการทุจริตภาค 5 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. เขต 5 ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริต ตามโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในพื้นที่อำเภอเชียงดาว อำเภอจอมทอง อำเภออมก๋อย และอำเภอฮอด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการรายงานสถานการณ์ไฟป่าและจุดความร้อน (HOT SPOT) ในปีที่ผ่านมา (มกราคม – เมษายน 2567) มากที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่

ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ (งบจังหวัด : ส่วนราชการ, งบจังหวัด : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบกลุ่มจังหวัด) ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง หรือดำเนินการใด ๆ และการเบิกจ่ายเงินตามโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) การจัดชุดลาดตระเวน และดับไฟป่า การจัดทำแนวกันไฟ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้งปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตของหน่วยงาน ดังนี้

1. สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 1 (เชียงใหม่) จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่
    (1) หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.4 (เชียงดาว) อำเภอเชียงดาว
    (2) หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.25 (ปิงโค้ง) อำเภอเชียงดาว
    (3) หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชม.14 (ห้วยโจ้) อำเภอจอมทอง
2. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่
    (1) อุทยานแห่งชาติผาแดง อำเภอเชียงดาว
    (2) สถานีควบคุมไฟป่าผาแดง อำเภอเชียงดาว
    (3) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว
    (4) สถานีควบคุมไฟป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว
    (5) อุทยานแห่งชาติออบหลวง อำเภอฮอด
    (6) สถานีควบคุมไฟ่ป่าออบหลวง อำเภอฮอด
3. ที่ทำการปกครองอำเภอ จำนวน 2 หน่วยงาน ได้แก่
    (1) อำเภอเชียงดาว
    (2) อำเภออมก๋อย
4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่
    (1) องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว
    (2) เทศบาลตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว
    (3) องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว
    (4) องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง
    (5) องค์การบริหารส่วนตำบลแม่หลอง อำเภออมก๋อย

โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานบูรณาการที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการ/กิจกรรม เพื่อศึกษาวิเคราะห์ ให้คำแนะนำ และแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริต ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และร่วมกันลงพื้นที่สังเกตการณ์ในพื้นที่ที่ดำเนินโครงการ/กิจกรรมของหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไปปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในหลายพื้นที่ของประเทศมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชน รัฐบาลจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน หรือเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อดำเนินการสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเต็มความสามารถ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด และเกิดประสิทธิผลในการควบคุมสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยที่มีต่อประชาชน และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน

จากสถิติคำกล่าวหาร้องเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีการกล่าวหาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ว่าปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ รวมไปถึงการทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ การฝึกอบรม ประชุม สัมมนา ต่าง ๆ รวมทั้งในบางเรื่องมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณในการปลูกป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ที่เป็นโครงการกลางน้ำที่รวบรวมข้อมูลความเสี่ยงการทุจริตจากต้นน้ำไปสู่การแก้ไขป้องกันด้วยกลไกต่าง ๆ

สำหรับการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่องของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอันเกิดจากขาดความระมัดระวัง หรือการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเกิดการทุจริตในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดโครงการปักหมุดพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต เพื่อให้เกิดการพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตที่มาจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่ไม่ทนต่อการทุจริตเพื่อเป็นฐานข้อมูลนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. 

ทั้งนี้ ผลของการดำเนินโครงการดังกล่าว จะทำให้เกิดการวิเคราะห์ประเด็นความเสี่ยงการทุจริต เพื่อให้เกิดฐานข้อมูลประเด็นการทุจริตสำหรับการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ นำไปสู่การปักหมุดแผนที่พื้นที่ความเสี่ยงต่อการทุจริตระดับจังหวัด ทำให้เกิดประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์แก่ภารกิจการป้องกันการทุจริต รวมถึงในระดับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดถึงภารกิจการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และปลุกจิตสำนึกในการต้านทุจริตให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่

Related