Contrast
banner_default_3.jpg

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม แถลงผลการดำเนินงานประจำเดือนมิถุนายน 2568

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม
จำนวนผู้เข้าชม: 24

04/07/2568

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม แถลงผลการดำเนินงานประจำเดือนมิถุนายน 2568 ดังนี้

 

1 . การลงพื้นที่ติดตามข้อเท็จจริง กรณีเพจ “ต้องแฉ” เสนอข้อมูล “ถนนคอนกรีต          อบต.เขวาไร่ ใช้งบครึ่งล้าน ผ่านไปแค่ 6 เดือน ถนนพัง”

จากกรณีที่เพจ Facebook ต้องแฉ เสนอข่าว “ถนนคอนกรีต อบต.เขวาไร่ ใช้งบครึ่งล้าน ผ่านไปแค่ 6 เดือน ถนนพัง” ซึ่งศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ข. (ศูนย์ CDC) ได้แจ้งมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ให้ติดตามข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว นั้น

(อ่านเรื่องเดิมกรณีที่เพจ “ต้องแฉ” เสนอข่าว https://shorturl.asia/b1Pe9)

          เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568) นายเสกสรรณ์ สมมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้ลงพื้นที่เพื่อขอทราบข้อมูลและติดตามข้อเท็จจริงตามที่มีการนำเสนอทางสื่อออนไลน์ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และสถานที่ก่อสร้างที่ปรากฏในภาพข่าว พบสิ่งก่อสร้างพังเสียหายจริงตามที่มีการแจ้งข้อมูลดังกล่าว

        จากการสอบถามข้อมูล พบว่าเป็นงานก่อสร้างขององค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ชื่อโครงการจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมไหล่ทาง ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและดาดคอนกรีตป้องกันการกัดเซาะ พื้นที่บ้านวังโพน หมู่ที่ 6 ถนนสายหนองสิมวังโพน ไปทางลำห้วยสมอ ด้านตะวันออก วงเงินงบประมาณ 500,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 31 ตุลาคม 2567 – 29 ธันวาคม 2567 มี หจก.หนองกุงสวรรค์ ก่อสร้าง เป็นคู่สัญญา โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขององค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ ให้ข้อมูลว่าเดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำไหลผ่านในช่วงน้ำหลากโดยมีลำห้วยอยู่บริเวณดังกล่าว ต่อมาได้มีการสร้างถนนเพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมาซึ่งได้มีการยกระดับถนนให้สูงขึ้น ตามปกติก็มีการกัดเซาะของน้ำเรื่อยมาตลอดโดยเฉพาะ ในชั้นโครงสร้างชั้นรองพื้นทางและชั้นพื้นทาง แต่ถนนก็มิได้พังเสียหายแต่เพื่อป้องกันการกัดเซาะที่จะสร้างความเสียหายต่อถนน จึงได้มีการจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมไหล่ทาง ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและดาดคอนกรีตป้องกันการกัดเซาะดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณงานประกอบด้วย

1. งานทุบรื้อคืนผิวถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 5x20x0.15 เมตร

2. งานทุบรื้อคืนผิวถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 50x20x0.15 เมตร

3. งานทุบรื้อคืนผิวถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2.50x45x0.15 เมตร

4. งานดาดคอนกรีต ยาว 100 เมตร

5. งานทุบรื้อคืนผิวพร้อมดาดคอนกรีต ยาว 49 เมตร

6. งานทุบรื้อคืนผิวพร้อมดาดคอนกรีต ยาว 45 เมตร

        โดยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2568 มีฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมากล้นลำห้วยที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้ไหลหลากกัดเซาะแผ่นคอนกรีตที่ก่อสร้างส่งผลทำให้เกิดการพังชำรุดเสียหาย เมื่อสอบถามว่าเหตุใด จึงไม่ออกแบบงานก่อสร้างให้มีท่อลอดเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก ผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูลว่า ปริมาณน้ำจะไหลเข้าพื้นที่นาของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงบางราย ซึ่งเกษตรกรไม่ยินยอมหากจะให้มีการปล่อยให้พื้นที่ของตนเป็นพื้นที่รับน้ำ จึงจำเป็นต้องปล่อยให้ปริมาณน้ำเอ่อล้นข้ามถนนไปตามทิศทางของสภาพพื้นที่ โดยในการลงพื้นที่ในวันนี้ ประชาชนที่มีพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบได้ร่วมให้ข้อมูลยืนยันต่อคณะเจ้าหน้าที่ว่าตนไม่ยินยอมในการปล่อยให้มีการก่อสร้างในส่วนที่จะมีผลทำให้พื้นที่นาของตนได้รับผลกระทบเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่หากมีวิธีการอื่นที่สามารถเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำโดยที่ตนและเกษตรข้างเคียงไม่ได้รับผลกระทบ ก็ยินดีให้ อบต.เขวาไร่ ดำเนินการได้โดยไม่ขัดข้องแต่ประการใด

        ทั้งนี้ เมื่อดูจากระยะเวลาการส่งมอบงานก่อสร้างของผู้รับจ้างแล้ว พบว่างานก่อสร้างดังกล่าวยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาประกันผลงาน 2 ปี จึงได้ให้ข้อเสนอแนะต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขวาไร่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาการพังชำรุดเสียหายของสิ่งก่อสร้างดังกล่าวโดยเร็ว รวมทั้งควรปรึกษาหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบงานก่อสร้างที่ได้มาตรฐานที่สามารถรับผลกระทบจากปริมาณน้ำได้ และจัดทำคำของบประมาณให้สอดคล้องกับการก่อสร้างเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน คุ้มค่าต่องบประมาณของภาครัฐต่อไป

2. การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ ผู้บริหารท้องถิ่น

          ในเดือนมิถุนายน 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดมหาสารคาม ได้ประกาศเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบ ของผู้บริหารท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามให้สาธารณชนทราบ จำนวน 12 ราย ดังนี้

1. นางบัวบาน พันเดช

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองกุง

2. นายสนั่น บุญคะสีทา

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกันทรวิชัย

3. นายปราการ เจริญสุรสกล

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขามเรียง

4. นายประภาส กิจจินดาโอภาส

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลวาปีปทุม

5. นายพลพัฒน์ จรัสเสถียร

           กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม

6. นางรัตนา เลิศชากุล

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลโกสุมพิสัย

7. นายวิสูตร จงชูวณิชย์

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลบรบือ

8. นายสุรฤทธิ์ รักษาชาติ

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลแวงน่าง

9. นายชัยยุทธ นียากร

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลนาดูน

10. นายพยนต์ บุญเพ็ง

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่

11. นายภาคภูมิ กองเพชร

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลกุดปลาดุก

12. นายทองอินทร์ มาตรา

           กรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลมิตรภาพ

3. เรื่องกล่าวหาที่ได้ดำเนินการไต่สวนเบื้องต้นแล้วเสร็จ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด/ให้ข้อกล่าวหาตกไป จำนวน 1 เรื่อง คือ

            กรณีกล่าวหา รองศาสตราจารย์ สมชาย วงศ์เกษม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กับพวก จัดสรรและเบิกจ่ายเงินอุดหนุนวิจัย ปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2560 โดยมิชอบ (คดีหมายเลขดำที่ 66-1-466/2562)

                 จากพยานหลักฐานรับฟังเป็นที่ยุติว่า โครงการวิจัย ทั้ง 5 โครงการ เป็นโครงการที่สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดย ผศ.ดร.สมสงวน ปัสสาโก ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา   ในขณะนั้น และทีมนักวิจัย ได้รับมอบหมายให้เขียนโครงการวิจัยและส่งข้อมูลโครงการวิจัยดังกล่าวต่อกองนโยบายและแผนมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เพื่อส่งข้อมูลต่อสำนักงบประมาณในการขอรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (เพิ่มเติม) ซึ่งหากมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามไม่ส่งข้อมูลโครงการวิจัยเพิ่มเติมดังกล่าว งบประมาณในส่วนนี้จะตกไปโดยไม่ได้รับการสนับสนุนและไม่เป็นผลดีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม ในการเสนอโครงการวิจัยทั้ง 5 โครงการ ผศ.ดร.สมสงวน ปัสสาโก ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ได้ให้ถ้อยคำยอมรับว่ามิได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนการวิจัย เนื่องจากมีเวลาในการเขียนข้อเสนอวิจัยเพียง 2 วัน เพื่อส่งข้อมูลต่อสำนักงบประมาณในการพิจารณา ทั้งนี้ ยังปรากฏว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามไม่เคยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนการวิจัยอีกด้วย และเมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามได้รับแจ้งอุดหนุนโครงการวิจัย จำนวน 72 โครงการ ซึ่งมีโครงการวิจัยที่มีการขอเพิ่มเติม จำนวน 7 โครงการดังกล่าวรวมอยู่ด้วย โครงการวิจัยทั้งหมดของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามก็มิได้ผ่านการจัดสรรทุนวิจัยจากคณะกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนการวิจัย ตามข้อ 9 (1) ของระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วย เงินอุดหนุนการวิจัย พ.ศ. 2557 แต่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้จัดสรรทุนวิจัยให้แก่นักวิจัยตามโครงการวิจัยและงบประมาณตามที่สำนักงานการวิจัย (วช.) มีข้อแนะนำ เมื่อปรากฏว่าโครงการวิจัยตามที่มีการกล่าวหา ทั้ง 5 โครงการ ได้รับการอนุมัติจัดสรรทุนวิจัยจากสำนักงบประมาณ เพื่อให้การดำเนินการวิจัยบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้มีคำสั่งที่ 0107/2560 ลงวันที่ 10 มกราคม 2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานและผู้รับผิดชอบโครงการวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยจากเงินงบประมาณแผ่นดิน (งปม.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

                 การเบิกเงินอุดหนุนทุนวิจัย จำนวน 5 โครงการ เข้าบัญชีเงินฝากในนามชื่อโครงการวิจัยทั้ง 5 โครงการ โดยไม่ได้จ่ายให้กับนักวิจัยโดยตรงนั้น ซึ่งตามระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วยเงินอุดหนุนการวิจัย พ.ศ. 2557 ข้อ 18 กำหนดว่า ให้หัวหน้าโครงการวิจัยรับเงินอุดหนุนการวิจัยไปบริหารโครงการวิจัยเองทั้งหมด พร้อมจัดทำสรุปรายงานค่าใช้จ่ายแนบท้ายเล่มรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ แต่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า โครงการวิจัยทั้ง 5 โครงการ ในขั้นตอนการเขียนข้อเสนอโครงการ ได้เสนอในนามสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดยได้ระบุชื่อ ผศ.ดร.สมสงวน ปัสสาโก ในฐานะผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา เป็นผู้ขอรับทุน ต่อมาเมื่อได้รับการจัดสรรทุนวิจัยเพื่อให้การบริหารจัดการและการดำเนินการวิจัยบรรลุผลตามวัตถุประสงค์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตามที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้น โครงการวิจัยทั้ง 5 โครงการตามที่กล่าวหา จึงต่างจากโครงการวิจัยทั่วไปที่นักวิจัยจะระบุชื่อผู้วิจัยโดยตรงและในการรับเงินอุดหนุนวิจัยจึงมีการจ่ายให้แก่นักวิจัยหัวหน้าโครงการโดยตรง แต่ในกรณีของโครงการวิจัยทั้ง 5 โครงการตามที่กล่าวหานั้น ได้มีการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารในชื่อบัญชีโครงการวิจัยและให้ผู้มีอำนาจเบิกถอน     2 ใน 3 ประกอบด้วย (1) นางสมสงวน ปัสสาโก ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา (2) ผศ. ดร. พรณรงค์ สิริปิยะสิงห์ ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา และ (3) นางปิยนาฏ พันธ์ประสิทธิ์ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี

                 เมื่อนักวิจัยจะใช้เงินจะมีการขอเบิกเงินสดจาก นางสมสงวน ปัสสาโก ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา จากนั้นสถาบันวิจัยและพัฒนาจะตั้งเรื่องขอเบิกเงินจากกองคลังมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ซึ่งจะจ่ายเช็คและนำฝากเข้าบัญชีโครงการวิจัยแต่ละโครงการ จากการตรวจสอบใบสำคัญรับเงินและการสอบถ้อยคำหัวหน้าโครงการวิจัยและนักวิจัยร่วมได้ให้ถ้อยคำยืนยันว่าได้ทำการขอเบิกเงินเพื่อใช้ในการดำเนินการวิจัยและได้รับเงินสดจาก ผศ.ดร.สมสงวน ปัสสาโก ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาจริง กรณีการกล่าวหาว่ามีการแสวงหาประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินฝากนั้น จากการตรวจสอบรายการเคลื่อนไหวทางบัญชี พบว่ามีรายการถอนเงินตามยอดงบประมาณที่ได้รับและปัจจุบันยังคงมียอดเงินคงเหลือในบัญชีซึ่งมีจำนวนเล็กน้อย

                 พิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน แม้จะปรากฏว่าโครงการวิจัยทั้งหมดของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ซึ่งรวมโครงการวิจัย 5 โครงการตามที่กล่าวหาดังกล่าว มิได้ผ่านความเห็นชอบและมิได้ผ่านการพิจารณาจัดสรรทุนวิจัยจากคณะกรรมการพิจารณาเงินอุดหนุนการวิจัย ตามข้อ 9 ของระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคามว่าด้วยเงินอุดหนุนการวิจัย พ.ศ. 2557 แต่การดำเนินการวิจัยทั้ง 5 โครงการได้มีการดำเนินการวิจัยแล้วเสร็จภายในระยะเวลา มีการส่งเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ และตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัย รวมทั้งรายงานผลการวิจัยต่อสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทั้งนี้ องค์คณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นรับมอบเล่มวิจัยฉบับสมบูรณ์ในโครงการวิจัยที่มีการกล่าวหา ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ที่เชื่อได้ว่าโครงการวิจัยทั้งหมดที่มีการกล่าวหามีการจัดทำเสร็จสิ้นแล้วครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ จึงเห็นว่า การที่มิได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นไปเพื่อการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายและการเปิดบัญชีเงินฝากในชื่อบัญชีโครงการวิจัยทั้ง 5 โครงการ โดยมิได้มีการจ่ายเงินให้แก่นักวิจัยโดยตรง เห็นว่ายังฟังไม่ได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินฝากตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด

อนึ่ง การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด

ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่า จะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด

 

                             จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน

 

Related