จากไชต์: สำนัก เฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต
จำนวนผู้เข้าชม: 560
สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
(๑) ติดตาม เฝ้าระวัง ประเมินสภาวการณ์อย่างรวดเร็ว (rapid appraisal) เพื่อเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อเสนอโดยเร็วต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปขยายผล เช่น สร้างการตื่นรู้ (realise) การจัดกิจกรรมการป้องกันและการนำไปสร้างมาตรการป้องกันเชิงรุก
(๒) ตรวจสอบกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐอันอาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต และรายงานผลการตรวจสอบพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณามีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานของรัฐ และคณะรัฐมนตรีทราบ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว
(๓) ดำเนินการสำรวจการรับรู้การทุจริตปีละหนึ่งครั้ง และจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณะในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day)
(๔) ผสานพลังกับสำนักงาน ป.ป.ช. ภาคและสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันสำรวจ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวัง ประเมินสภาวการณ์การทุจริตอย่างรวดเร็ว (rapid appraisal) เพื่อให้เกิดการป้องกันโดยเร็ว
(๕) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นเครือข่าย
(๖) จัดทำรายงานผลการดำเนินการสำรวจ ติดตาม และประเมินสถานการณ์การทุจริต ของประเทศทุกไตรมาส และเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(๗) ติดตามและประเมินผลความสำเร็จและความคุ้มค่าในการดำเนินงาน และจัดทำ รายงานเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งประสานสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรมเพื่อนำไปประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๘) ประสานและปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. มอบหมาย ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง