STRONG model จิตพอเพียงต้านทุจริต

STRONG model : คําอธิบาย จิตพอเพียงต้านทุจริต
รศ.ดร.มาณี  ไชยธีรานุวัฒศิริ 
ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช.
     ยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) กำหนด วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance and Clean Thailand)” กำหนดพันธกิจหลักเพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วน และปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ผ่านยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต สกัดกั้นการทุจริตเชิง นโยบาย พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต และยกระดับ ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย โดยเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 3 คือ ประเทศไทยมีค่าดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) สูงกว่าร้อยละ 50 ในปี 2564

     โครงการ “จิตพอเพียงต้านทุจริต” เป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการ ทุจริต ซึ่งประกอบด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ (1) การปรับฐานความคิดทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกแยะ ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและผลประโยชน์ส่วนรวม (2) ส่งเสริมให้มีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม เพื่อต้านทุจริต (3) ประยุกต์หลักพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริต และ (4) เสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของชุมชน และทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านการทุจริต จากกลยุทธ์ดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่มาของโครงการ “จิตพอเพียงต้านทุจริต” ในชุดโครงการสหยุทธ์ (รศ.ดร.มาณี  ไชยธีรานุวัฒศิริ, 2560) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวใน 27 จังหวัด ในปีงบประมาณ 2561 และครบทั้ง 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ในปีงบประมาณ 2562

     โครงการ “จิตพอเพียงต้านทุจริต” ในระยะต้นของการดำเนินการ แม้ว่าในโครงการได้กำหนดกระบวนการ ต่าง ๆ ไว้ แต่ผู้นำโครงการสู่การปฏิบัติมีความเข้าใจในความหมายแตกต่างกันไป ทำให้การนำสู่การปฏิบัติค่อนข้างสับสน จึงมีการคิดค้น STRONG model ขึ้นมาเพื่ออธิบายโครงการ “จิตพอเพียงต้านทุจริต” ให้มีระบบมากขึ้น และเรียกชื่อที่เชื่อมโยงระหว่าง STRONG model และจิตพอเพียงต้านทุจริต ว่า โครงการ “STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต”

     การคิดค้น STRONG model เกิดขึ้นจากการตกผลึกทางความคิดของความหมายของ “จิตพอเพียงต้าน ทุจริต” ที่ประกอบด้วยคำสำคัญ 3 คำ คือ จิต พอเพียง ต้านทุจริต
จิตพอเพียงต้านทุจริต ต้องเป็นจิตที่มีความแข็งแกร่ง ทำให้คิดถึงคำภาษาอังกฤษ คือ Strong ที่เป็นคำง่าย ๆ มีการใช้บ่อย ๆ ความหมายเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป แต่ต้องคิดให้ตกผลึกในตัวอักษรทั้ง 6 ตัว ให้สามารถเชื่อมโยงกับคำว่า พอเพียง และคำว่า ต้านทุจริต จึงเป็นการตั้งต้นในการหาความหมายในตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้ง 6 ตัว ที่มีความเชื่อมโยงกันและสามารถคิดกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมได้

S เป็นตัวอักษรตัวแรกของ Strong ทำให้คิดถึงคำ Sufficient ซึ่งแปลว่า พอเพียง เป็นคำสำคัญ และเป็น หลักเป็นแก่นของจิตพอเพียงต้านทุจริต
คำสำคัญคำถัดไปคือ ต้านทุจริต ซึ่งจำเป็นต้องมีคำอธิบายหรือคำจำกัดความให้ชัดเจน เพื่อค้นหาคำที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องสำหรับใส่ในอักษรอังกฤษ t-r-o-n-g
การทุจริตเกิดขึ้นจากระบบและคน ระบบที่เน้นความโปร่งใสและตรวจสอบได้จะทำให้การทุจริตยากยิ่งขึ้น คนสุจริตที่ไม่นิ่งเฉย ไม่ยอมให้มีการทุจริตเกิดขึ้น ย่อมเป็นกลไกป้องกันการทุจริต และทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าได้ยิ่งขึ้น

การประกอบคำต่าง ๆ ในตัวอักษร t-r-o-n-g จึงเกิดขึ้น ดังนี้
ตัว T จึงใช้คำ Transparent โปร่งใส 
     R Realise ตื่นรู้ รู้สภาวะ รู้เหตุการณ์ที่จะเกิดการทุจริต และพร้อมจะต่อสู้ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต 
     O เป็นตัวอักษรที่คิดหาคำยากที่สุด แต่ในที่สุดจึงเลือกคำ Onward มุ่งไปข้างหน้า มุ่งสร้างความเจริญ
     N เป็นคำควบกล้ำกับ K Knowledge ความรู้ เป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับมนุษย์ มีอิทธิพลต่อทัศนคติความตระหนัก และพฤติกรรม การกระทำ
     G Generosity เอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในฐานะของเพื่อนมนุษย์ โดยมิใช่ต่างตอบแทนหรือต้องการ ผลประโยชน์
     STRONG : จิตพอเพียงต้านทุจริต จึงหมายถึง ผู้ที่มีความพอเพียง ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น (S) มุ่งอนาคตที่เจริญทั้งตนเองและส่วนรวม (O) โดยใช้หลักความโปร่งใสตรวจสอบได้ (T) พื้นฐานจิตใจมีมนุษยธรรมเอื้ออาทร ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ต่างตอบแทน (G) ให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อการดำรงชีวิตในทางที่ชอบ (N) แต่ตื่นรู้เรื่องภัยทุจริตที่ร้ายแรงส่งผลต่อสังคม รังเกียจการทุจริตประพฤติมิชอบทั้งปวง ไม่ยอมทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ (R)

     S Sufficient พอเพียง
         เนื่องจากความพอเพียงของปัจเจกบุคคล ย่อมที่ระดับที่แตกต่างกันตามวิธีคิด สภาพความพร้อมและความสามารถ รวมทั้งตามสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคลและครอบครัว
กลไกหลัก คือ ปรับวิธีคิดที่แยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวมได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และเป็นอัตโนมัติจะนำไปสู่จิตสำนึกที่พอเพียง ไม่กอบโกยผลประโยชน์โดยมิชอบ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดบังรัฐ ไม่รับอามิสสินบนโดยมิต้องจำกัดขอบเขตของการประกอบอาชีพที่สุจริต สามารถหาทรัพย์สินเงินทองได้ตามความสามารถ ทั้งนี้ โดยไม่เดือดร้อนตนเองและผู้อื่น

T Transparent โปร่งใส
    ความโปร่งใส ทำให้เห็นภาพหรือปรากฏการณ์ชัดเจน
    กลไกหลัก คือ สร้างความรู้ความเข้าใจ และวิธีสังเกตเกี่ยวกับความโปร่งใสของโครงการต่าง ๆ
                    
R Realise ตื่นรู้
    เมื่อบุคคลรู้พิษภัยของการทุจริต และไม่ทนที่จะเห็นการทุจริตเกิดขึ้น
    กลไกหลัก การเรียนรู้สถานการณ์การทุจริตในพื้นที่ ในชุมชน หรือในกรณีที่ปรากฏการทุจริตขึ้น หรือกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นมาแล้วและมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

O Onward มุ่งไปข้างหน้า
    การไม่มีการทุจริตของภาครัฐ จะทำให้เงินภาษีถูกนำไปใช้ในการพัฒนาอย่างเต็มที่
    กลไกหลัก คือ การป้องกันและการป้องปราม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ในการทุจริต เช่น การบุกรุกพื้นที่สาธารณะ หรือเฝ้าระวังโครงการให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส

N Knowledge ความรู้
    ความรู้ด้านต่าง ๆ มีความจำเป็นต่อการป้องกันและป้องปรามการทุจริต
    กลไกหลัก คือ การให้ความรู้ในรูปแบบการฝึกอบรม หรือให้สื่อเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น
    (1) ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการทุจริตแบบต่าง ๆ ทั้งแบบสมัยอดีต แบบปัจจุบัน และแบบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
    (2) ความรู้เกี่ยวกับการทุจริตในต่างประเทศ
    (3) วิธีการป้องกัน - ป้องปรามแบบต่าง ๆ
    (4) ความรู้เกี่ยวการเฝ้าระวัง
    (5) ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

G Generosity ความเอื้ออาทร
    การพัฒนาสังคมไทยให้มีน้ำใจ โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนหรือหวังผลตอบแทน ในฐานะเพื่อนมนุษย์
    กลไกหลัก กิจกรรมจิตอาสา ช่วยเหลือบุคคล ชุมชน/สังคมในยามวิกฤติ หรือการร่วมมือในการร่วมพัฒนาชุมชน

  
WE STRONG CHAT