- กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม
- แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
- แผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564)
- การแจ้งเบาะแส/การร้องเรียนกรณีพบการทุจริต
1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม
1.1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
หมวด ๖
การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม
มาตรา ๑๒๖ นอกจากเจ้าพนักงานของรัฐที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้วห้ามมิให้กรรมการผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกําหนดดําเนินกิจการดังต่อไปนี้
(๑) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทํากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งมีอํานาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกํากับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดําเนินคดี
(๒) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอํานาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ในการกํากับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดําเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัด ไม่เกินจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
(๓) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญา ในลักษณะดังกล่าว ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอํานาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกํากับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดําเนินคดี เว้นแต่จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดไม่เกินจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
(๔) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกํากับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น
ให้นําความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่งด้วยโดยให้ถือว่าการดําเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดําเนินกิจการของเจ้าพนักงานของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้นดําเนินการอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดํารงตําแหน่ง
คู่สมรสตามวรรคสองให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
เจ้าพนักงานของรัฐที่มีลักษณะตาม (๒) หรือ (๓) ต้องดําเนินการไม่ให้มีลักษณะดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้าดํารงตําแหน่ง
มาตรา ๑๒๗ ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูงและผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด ดําเนินการใดตามมาตรา ๑๒๖ (๔) ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่ง
มาตรา ๑๒๘ ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือญาติที่ให้ตามประเพณีหรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๙ การกระทําอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติในหมวดนี้ให้ถือว่าเป็นการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
1.2 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2544
โดยที่ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการให้ของขวัญและรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้หลายครั้งเพื่อเป็นการเสริมสร้างค่านิยมให้เกิดการประหยัด มิให้มีการเบียดเบียนข้าราชการโดยไม่จำเป็นและสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากมีการแข่งขันกันให้ของขวัญในราคาแพง ทั้งยังเป็นช่องทางให้เกิดการประพฤติมิชอบอื่น ๆ ในวงราชการอีกด้วยและในการกำหนดจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่าง ๆ ก็มีการกำหนดในเรื่องทำนองเดียวกัน ประกอบกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และจำนวนที่เจ้าหน้าที่ ของรัฐจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ ฉะนั้นจึงสมควรรวบรวมมาตรการเหล่านั้นและกำหนดเป็นหลักเกณฑ์การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการให้ของขวัญและรับของขวัญไว้เป็นการถาวร มีมาตรฐานอย่างเดียวกัน และมีความชัดเจนเพื่อเสริมมาตรการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้เป็นผลอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไม่ได้กำหนดไว้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 3 ในระเบียบนี้
"ของขวัญ" หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ให้แก่กัน เพื่ออัธยาศัยไมตรี และให้หมายความรวมถึงเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ให้เป็นรางวัล ให้โดยเสน่หาหรือเพื่อการสงเคราะห์ หรือให้เป็นสินน้ำใจ การให้สิทธิพิเศษซึ่งมิใช่เป็นสิทธิที่จัดไว้สำหรับบุคคลทั่วไปในการได้รับการลดราคาทรัพย์สินหรือการให้สิทธิพิเศษในการได้รับบริการหรือความบันเทิงตลอดจนการออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางหรือท่องเที่ยวค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกันและไม่ว่า จะให้เป็นบัตร ตั๋ว หรือหลักฐานอื่นใด การชำระเงินให้ล่วงหน้า หรือ การคืนเงินให้ในภายหลัง
"ปกติประเพณีนิยม" หมายความว่า เทศกาลหรือวันสำคัญซึ่งอาจมีการให้ของขวัญกัน และให้หมายความรวมถึงโอกาสในการแสดงความยินดี การแสดง ความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ความช่วยเหลือตามมารยาท ที่ถือปฏิบัติกันในสังคมด้วย
"ผู้บังคับบัญชา" ให้หมายความรวมถึง ผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยงาน ที่แบ่งเป็นการภายในของหน่วยงานของรัฐและผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับที่สูงกว่าและได้รับมอบหมายให้มีอำนาจบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลด้วย
"บุคคลในครอบครัว" หมายความว่า คู่สมรส บุตร บิดา มารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
ข้อ 4 ระเบียบนี้ไม่ใช้บังคับกับกรณีการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ข้อ 5 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะให้ของขวัญแก่ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชานอกเหนือจากกรณีปกติประเพณีนิยมที่มีการให้ของขวัญแก่กันมิได้
การให้ของขวัญตามปกติประเพณีนิยมตามวรรคหนึ่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐจะให้ของขวัญที่มีราคาหรือมูลค่าเกินจำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดไว้ สำหรับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมิได้
เจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำการเรี่ยไรเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดหรือ ใช้เงินสวัสดิการใดๆ เพื่อมอบให้หรือจัดหาของขวัญให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชาไม่ว่ากรณีใด ๆ มิได้
ข้อ 6 ผู้บังคับบัญชาจะยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลในครอบครัวของตนรับของขวัญจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชามิได้ เว้นแต่เป็นการรับของขวัญตามข้อ 5
ข้อ 7 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลในครอบครัวของตนรับของขวัญจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้ ถ้ามิใช่เป็นการรับของขวัญตามกรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 8
ผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม วรรคหนึ่ง ได้แก่ ผู้มาติดต่องานหรือผู้ซึ่งได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ผู้ซึ่งมีคำขอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น การขอใบรับรอง การขอให้ออกคำสั่งทางปกครอง หรือการร้องเรียน เป็นต้น
(2) ผู้ซึ่งประกอบธุรกิจหรือมีส่วนได้เสียในธุรกิจที่ทำกับหน่วยงานของรัฐเช่น การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการได้รับสัมปทาน เป็นต้น
(3) ผู้ซึ่งกำลังดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ควบคุมหรือกำกับดูแล เช่น การประกอบกิจการโรงงานหรือธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น
(4) ผู้ซึ่งอาจได้รับประโยชน์หรือผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ข้อ 8 เจ้าหน้าที่ของรัฐจะยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลในครอบครัวของตนรับของขวัญจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เฉพาะกรณี การรับของขวัญที่ให้ตามปกติประเพณีนิยม และของขวัญนั้นมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดไว้สำหรับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ข้อ 9 ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวของเจ้าหน้าที่ของรัฐรับของขวัญแล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบในภายหลังว่าเป็นการรับของขวัญโดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนดไว้สำหรับการรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีราคาหรือมูลค่าเกินกว่าที่กำหนดไว้ ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ข้อ 10 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจงใจปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ของขวัญหรือรับของขวัญโดยฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นข้าราชการการเมือง ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นประพฤติปฏิบัติไม่เป็นไปตามคุณธรรมและจริยธรรม และให้ดำเนินการตามระเบียบที่นายกรัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีว่าด้วยมาตรฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมของข้าราชการการเมือง
(2) ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นข้าราชการประเภทอื่นนอกจาก (1) หรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานของรัฐวิสาหกิจให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดทางวินัย และให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ดำเนินการให้มีการลงโทษทางวินัยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
ข้อ 11 ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่สอดส่อง และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้แก่หน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงานปลัดสำนักนายรัฐมนตรีว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดปฏิบัติในการให้ของขวัญหรือรับของขวัญฝ่าฝืนระเบียบนี้ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น เพื่อดำเนินการตามระเบียบนี้
ข้อ 12 เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างให้เกิดทัศนคติในการประหยัดแก่ประชาชนทั่วไปในการแสดงความยินดี การแสดงความปรารถนาดี การแสดงการต้อนรับ หรือการแสดงความเสียใจในโอกาสต่างๆ ตามปกติประเพณีนิยมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพยายามใช้วิธีการแสดงออกโดยใช้บัตรอวยพร การลงนามในสมุดอวยพรหรือใช้บัตรแสดงความเสียใจ แทนการให้ของขวัญ
ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างค่านิยมการแสดงความยินดี การแสดงความปรารถนาดี การต้อนรับ หรือการแสดงความเสียใจด้วยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง แนะนำหรือกำหนดมาตรการจูงใจที่จะพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปในแนวทางประหยัด
1.3 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544
ข้อ 4 ในระเบียบนี้
“การเรี่ยไร” หมายความว่า การเก็บเงินหรือทรัพย์สิน โดยขอร้องให้ช่วยออกเงินหรือทรัพย์สินตามใจสมัคร และให้หมายความรวมถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้หรือบริการซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยายว่า มิใช่เป็นการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาทั้งหมด หรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย
“เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร” หมายความว่า เข้าไปช่วยเหลือโดยมีส่วนร่วมในการจัดให้มี การเรี่ยไรในฐานะเป็นผู้ร่วมจัดให้มีการเรี่ยไร หรือเป็นประธานกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา หรือในฐานะอื่นใดในการเรี่ยไรนั้น
ข้อ 6 หน่วยงานของรัฐจะจัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมี ส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรมิได้ เว้นแต่เป็นการเรี่ยไร ตามข้อ 19 หรือได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.) หรือ กคร.จังหวัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้
หน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตในการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร นอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ด้วย ในกรณีนี้ กคร.อาจกำหนดแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานรัฐดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรก็ได้
ข้อ 8 ให้มีคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ เรียกโดยย่อว่า “กคร.” ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ และผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ
กคร.จะแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ก็ได้
ข้อ 18 การเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ที่ กคร. หรือ กคร.จังหวัด แล้วแต่กรณี จะพิจารณาอนุมัติให้ตามข้อ 6 ได้นั้น จะต้องมีลักษณะและวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐนั้นเอง
(2) เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การป้องกันหรือพัฒนาประเทศ
(3) เป็นการเรี่ยไรที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์
(4) เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรของบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว
ข้อ 19 การเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรดังต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุมัติจาก กคร. หรือ กคร.จังหวัด แล้วแต่กรณี
(1) เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และมีมติคณะรัฐมนตรีให้เรี่ยไรได้
(2) เป็นการเรี่ยไรที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากสาธารณภัยหรือเหตุการณ์ใดที่สำคัญ (3) เป็นการเรี่ยไรเพื่อร่วมกันทำบุญเนื่องในโอกาส การทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน
(4) เป็นการเรี่ยไรตามข้อ 18 (1) หรือ (3) เพื่อให้ได้เงินหรือทรัพย์สินไม่เกินจำนวนเงินหรือมูลค่าตามที่ กคร. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(5) เป็นการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรตาม ข้อ 18 (4) ซึ่ง กคร. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเว้นให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุมัติ
(6) เป็นการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอื่นที่ได้รับอนุมัติหรือได้รับยกเว้นในการขออนุมัติ ตามระเบียบนี้แล้ว
ข้อ 20 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้รับอนุมัติหรือได้รับยกเว้นตามข้อ 19 ให้จัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ให้กระทำการเรี่ยไรเป็นการทั่วไป โดยประกาศหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน
(2) กำหนดสถานที่หรือวิธีการที่จะรับเงินหรือทรัพย์สินจากการเรี่ยไร
(3) ออกใบเสร็จหรือหลักฐานการรับเงินหรือทรัพย์สินให้แก่ผู้บริจาคทุกครั้ง เว้นแต่โดยลักษณะแห่งการเรี่ยไรไม่สามารถออกใบเสร็จหรือหลักฐานดังกล่าวได้ ก็ให้จัดทำเป็นบัญชีการรับเงินหรือทรัพย์สินนั้นไว้เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
(4) จัดทำบัญชีการรับจ่ายหรือทรัพย์สินที่ได้จากการเรี่ยไรตามระบบบัญชีของทางราชการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สิ้นสุด การเรี่ยไร หรือทุกสามเดือน ในกรณีที่เป็นการเรี่ยไรที่กระทำอย่างต่อเนื่องและปิดประกาศเปิดเผย ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐที่ได้ทำการเรี่ยไรไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ทราบและจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินการเรี่ยไรดังกล่าวไว้ ณ สถานที่สำหรับประชาชนสามารถใช้ในการค้นหาและศึกษาข้อมูลข่าวสารของราชการด้วย
(5) รายงานการเงินของการเรี่ยไรพร้อมทั้งส่งบัญชีตาม (4) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้จัดทำบัญชีตาม (4) แล้วเสร็จ หรือในกรณีที่เป็นการเรี่ยไรที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่อง ให้รายงานการเงินพร้อมทั้ง ส่งบัญชีดังกล่าวทุกสามเดือน
ข้อ 21 ในการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กำหนดประโยชน์ที่ผู้บริจาคหรือบุคคลอื่นจะได้รับซึ่งมิใช่ประโยชน์ที่หน่วยงานของรัฐได้ประกาศไว้
(2) กำหนดให้ผู้บริจาคต้องบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเป็นจำนวนหรือมูลค่าที่แน่นอน เว้นแต่ โดยสภาพ มีความจำเป็นต้องกำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เช่น การจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดงหรือบัตรเข้าร่วมการแข่งขัน เป็นต้น
(3) กระทำการใด ๆ ที่เป็นการบังคับให้บุคคลใดทำการเรี่ยไรหรือบริจาค หรือกระทำการในลักษณะที่ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมไม่สามารถปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่ช่วยทำการเรี่ยไรหรือบริจาคไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
(4) ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐออกทำการเรี่ยไร หรือใช้ สั่ง ขอร้อง หรือบังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นออกทำการเรี่ยไร
ข้อ 22 เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรของบุคคลหรือนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐจะต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ใช้หรือแสดงตำแหน่งหน้าที่ให้ปรากฏในการดำเนินการเรี่ยไรไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ตามกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์หรือสื่ออย่างอื่น หรือด้วยวิธีการอื่นใด
(2) ใช้ สั่ง ขอร้อง หรือบังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือบุคคลใดช่วยทำการเรี่ยไรให้ หรือกระทำในลักษณะที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นนั้นต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมไม่สามารถปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงที่จะไม่ช่วยทำการเรี่ยไรให้ได้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
2. แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
ภาครัฐที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกระดับ มีวัฒนธรรมแยกแยะประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของบุคลากรภาครัฐให้เกิดขึ้น รวมทั้งสร้างจิตสานึกและค่านิยมให้ทุกภาคส่วนตื่นตัว ละอายต่อการทุจริตประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ มีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริต จะเป็นปัจจัยที่สาคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในปี ๒๕๘๐
สถานการณ์ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆสืบเนื่องมาจากวิวัฒนาการของการทุจริตที่มีรูปแบบที่สลับซับซ้อน ปัญหาการขาดจิตสานึกในการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ซึ่งปัญหาดังกล่าวทาให้รัฐและประเทศชาติได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง มีการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตที่อาจมีความยากและซับซ้อนต่อการตรวจสอบของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณมาก ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ทั้งนี้ ถึงแม้ทุกภาคส่วนในสังคมมีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามบทบาทและภาระหน้าที่ของตนเองเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การรับรู้การทุจริตของประเทศไทยยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนา อันสะท้อนได้จากดัชนีการรับรู้การทุจริตของ ประเทศไทยที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ ๙๖ จาก ๑๘๐ ประเทศทั่วโลกในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ การแก้ไขปัญหาการทุจริตจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างบูรณาการ
แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผ่านการพัฒนาคนและการพัฒนาระบบ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้ความสำคัญกับการปรับและหล่อหลอมพฤติกรรม “คน” ทุกกลุ่มในสังคมให้มีจิตสำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต และการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐที่เหมาะสมกับบริบทสภาพปัญหา และพลวัตการทุจริตของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการและกลไกที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามการทุจริต แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประกอบด้วย ๒ แผนย่อย ได้แก่
๑) การป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มุ่งการพัฒนาคนและการพัฒนาระบบ ในส่วนการพัฒนาคน เน้นการปรับพฤติกรรม “คน” ทุกกลุ่มในสังคม โดยกลุ่มเด็กและเยาวชน เน้นการปลูกฝังและหล่อหลอมให้มีจิตสำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตผ่านหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา กลุ่มประชาชนทั่วไป เน้นการสร้างวัฒนธรรม และพฤติกรรมสุจริต ควบคู่กับส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ กลุ่มข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่งเสริมการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงาน รู้จักแยกแยะเรื่องสวนตัวออกจากหน้าที่การงาน พร้อมกับสร้างจิตสำนึกและค่านิยมของบุคลากรในการต่อต้านการทุจริต สนับสนุนการมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง สอดส่อง และแจ้งเบาะแสการทุจริต พร้อมทั้งจัดให้มีมาตรการสนับสนุนและคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส กลุ่มนักการเมือง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับการมีจริยธรรมของผู้ดำรงตาแหน่งทางการเมือง ทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นให้มีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ในการทาตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งส่งเสริมให้มีการกำกับจริยธรรมภายในพรรคการเมืองอย่างเข้มข้น
ในส่วนของการพัฒนา “ระบบ” จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในการต่อต้าน การทุจริตในหน่วยงานภาครัฐที่เหมาะสมกับบริบท สภาพปัญหา และพลวัตการทุจริตของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้เครื่องมือและมาตรการเพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และปิดโอกาสในการกระทำการทุจริต ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นทำได้ยากและมีโอกาสสูงที่จะถูกตรวจพบ และลงโทษ พร้อมทั้งการสร้างความไว้วางใจของประชาชนต่อภาครัฐ โดยการเพิ่มโทษให้หนัก และการตัดสินคดีที่มีความรวดเร็ว เด็ดขาด เพื่อให้การกระทาการทุจริตเป็นสิ่งที่ “ได้” ไม่คุ้ม “เสีย” ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามแนวทางของแผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบมีเป้าหมายสาคัญ ๒ ประการ คือ ประชาชนคนไทยมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต และคดีทุจริตลดลงทั้งในส่วนคดีของหน่วยงาน และคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดารงตำแหน่งระดับสูง โดยมีโครงการสำคัญที่ทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันขับเคลื่อน คือ โครงการปลูกฝังวิธีคิด สร้างจิตสำนึกในความซื่อสัตย์สุจริต และการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม และโครงการสร้างนวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริตอย่างมีส่วนร่วม
๒) การปราบปรามการทุจริต มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการและกลไก ที่เกี่ยวข้องในการปราบปรามการทุจริต ทั้งในขั้นตอนการสืบสวน/ตรวจสอบเบื้องต้น การดำเนินการทางคดี การยึด/อายัดทรัพย์สินของผู้กระทาความผิด การตัดสินลงโทษผู้กระทาความผิด ทั้งทางวินัยและอาญา ให้มีความรวดเร็ว การปรับปรุงกฎหมายและตรากฎหมายใหม่เพื่อสนับสนุนให้การบังคับใช้กฎหมาย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การปรับกระบวนการทางานด้านการปราบปรามการทุจริตเข้าสู่ระบบดิจิทัลการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและฐานข้อมูลที่สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งรวมถึง การเชื่อมโยงระบบข้อมูลเรื่องร้องเรียนระหว่างหน่วยงาน การบูรณาการงานคดีการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่ทันสมัย การจัดทำระบบฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านการปราบปรามการทุจริต การพัฒนาสมรรถนะและองค์ความรู้เชิงสหวิทยาการของเจ้าหน้าที่ ในกระบวนการปราบปรามการทุจริต และการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงาน/องค์กรต่อต้าน การทุจริตและองค์กรเอกชนในระดับนานาชาติ การดำเนินการตามแผนย่อยการปราบปรามการทุจริตต้องการบรรลุเป้าหมายสาคัญ คือ การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ โครงการสำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อน คือ โครงการสร้างนวัตกรรมการปราบปรามการทุจริตเชิงรุก
3.แผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564)
การทุจริตในสังคมไทยระหว่างช่วงเวลากว่าทศวรรษ ส่งผลเสียต่อประเทศอย่างมหาศาลและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในทุกมิติ รูปแบบการทุจริตจากเดิมที่เป็นทุจริตทางตรง ไม่ซับซ้อน อาทิ การรับสินบน การจัดซื้อจัดจ้าง ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นการทุจริตที่ซับซ้อนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การทุจริตเชิงนโยบาย การทุจริตข้ามแดนข้ามชาติ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่อาชญากรรมอื่น ๆ มากมายและส่งผลกระทบทางลบในวงกว้าง
การทุจริตเป็นปัญหาสากลที่ทุกประเทศล้วนให้ความสำคัญ รวมทั้งประเทศไทย ประเทศไทยจึงได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีเป็นลำดับที่ ๑๔๙ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention Against Corruption A.C. 2003 : UNCAC) ที่ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตกลับคืน รวมทั้งการให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างสมบูรณ์
ประเทศไทยได้พยายามแก้ปัญหาการทุจริตในระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบูรณาการ ความร่วมมือให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริตระยะที่ 1 (พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๕๕) และยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริตระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๖๐) ซึ่งพบว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคมไทยมีผลในระดับหนึ่ง และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ที่เป็นรูปธรรม ที่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ทวีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 256๐ - 256๔) จึงกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบอย่างเข้มแข็งทั่วทั้งสังคมไทย เพื่อให้เป็นประเทศที่มีมาตรฐานความโปร่งใสเทียบเท่าระดับสากล
จากการวิเคราะห์สถานการณ์การทุจริต การวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ของประเทศไทย การวิเคราะห์ทิศทางและแนวโน้มการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ ตลอดจนทบทวนงานวิจัยและการศึกษาคู่เทียบ (Benchmarking) การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม รวมถึงวิเคราะห์ วงล้ออนาคต (Future wheel analysis) และการฉายภาพอนาคต (Future scenario analysis) ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารองค์กรอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ สามารถนำมาประมวลผลเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 256๐ – 2564) รายละเอียดดังนี้
1. วิสัยทัศน์
“ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต
(Zero Tolerance & Clean Thailand)”
คำอธิบายวิสัยทัศน์
ประเทศไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางคุณธรรมจริยธรรมเป็นสังคมมิติใหม่ที่ประชาชนไม่เพิกเฉยต่อการทุจริตทุกรูปแบบ โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายการเมือง หน่วยงานของรัฐ ตลอดจนประชาชน ในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน เพื่อให้ประเทศไทย มีศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิในด้านความโปร่งใสทัดเทียมนานาอารยประเทศ
2. พันธกิจ
“สร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ
และปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบ ให้มีมาตรฐานสากล”
คำอธิบายพันธกิจ
การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะเป็นการปฏิรูปกระบวนการดำเนินงานจากเดิม ไปสู่กระบวนการทำงานแบบบูรณาการทั้งระบบ โดยเริ่มจากการวางรากฐานทางความคิดของประชาชนที่นอกจากตนเองจะไม่กระทำการทุจริตแล้ว จะต้องไม่อดทนต่อการทุจริตที่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป ประชาชนไทยต้องก้าวข้ามค่านิยมอุปถัมภ์และความเพิกเฉยต่อการทุจริตประพฤติมิชอบ เจตจำนงทางการเมืองของประชาชนที่ต้องการสร้างชาติที่สะอาดปราศจากการทุจริต จะต้องได้รับการสานต่อจากฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ การขับเคลื่อนนโยบายที่มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเป็นที่ได้รับความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นจากประชาชนว่าจะสามารถเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียม ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานจริยธรรม คุณธรรม และความโปร่งใสของประเทศไทยในทุกมิติ ให้มีมาตรฐานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 (United Nations Convention Against Corruption C.C. 2003 – UNCAC 2003) ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖4
3. เป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์
ประเทศไทยได้รับการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI)ของประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
4. ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์มีความครอบคลุมกระบวนการดำเนินงานด้านการป้องกัน ปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ โดยกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานหลักออกเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
๑. สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
๒. ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต
๓. สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย
๔. พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก
๕. ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต
๖. ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทย
4.การแจ้งเบาะแส/การร้องเรียนการทุจริตต่อหน้าที่
เนื้อหาดังกล่าวได้สรุปและได้รับการสนับสนุนจากคณะอนุกรรมการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะการจัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูล เบาะแส หรือ พยานหลักฐาน สำหรับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช.ดังนี้
4.1 การแจ้งเบาะแส/การร้องเรียนการทุจริตต่อหน้าที่
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยการกำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นต่อการดำเนินการ การแจ้งเบาะแส/การร้องเรียนการทุจริต และได้รับความคุ้มครอง ซึ่งกลไกที่จะส่งเสริมให้บุคคลมาแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคคลทั่วไปเพื่อให้ทราบถึงช่องทางการร้องเรียน แจ้งข้อมูล เบาะแส หรือพยานหลักฐาน สำหรับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยช่องทางดังกล่าวมีวิธีการที่ง่าย สะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่ก่อผลร้ายกับผู้แจ้งดังกล่าว
หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้กำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และห้ามบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคล และบรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ ไว้ดังนี้
มาตรา ๒๘ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๒) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(๓) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและเจ้าพนักงานของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว
(๔) ไต่สวนเพื่อดำเนินคดีในฐานความผิดอื่นที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนดหรือที่มี กฎหมายกำหนดให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(๕) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
หรือกฎหมายอื่น
ในการดำเนินการตาม (๔) ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการเอง หรือมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินการก็ได้
มาตรา 36 คณะกรรมการ ป.ป.ช. พนักงานเจ้าหน้าที่ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างใด จะเปิดเผยข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็นข้อมูลเฉพาะของบุคคล บรรดาที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่มิได้
การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในแต่ละขั้นตอน ห้ามเปิดเผยข้อมูล
ที่เป็นรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทำการใดอันจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว การเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเพื่อให้สาธารณชนได้ทราบ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(๑) ในชั้นก่อนการไต่สวน ห้ามเปิดเผยชื่อผู้ถูกร้อง เว้นแต่มีเหตุอันจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการ
ไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว
(๒) เมื่อได้ดำเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้นแล้วมีพยานหลักฐานพอสมควรก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาวินิจฉัย การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นไปตามวิธีการและ เงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด
(๓) เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นหรือวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์การกระทำความผิด ให้เปิดเผยความเห็นหรือคำวินิจฉัยได้ เว้นแต่จะเปิดเผยชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแสและผู้ซึ่งเป็นพยานมิได้ และต้องไม่กระทบต่อรูปคดีหรือความปลอดภัยในชีวิต หรือทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ห้ามมิให้มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงานและสำนวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน หรือการไต่สวนเบื้องต้น รวมทั้งบรรดาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ สอบสวน ไต่สวน หรือไต่สวนเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นความลับของ
ทางราชการ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานของรัฐ และบุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ได้ดังนี้
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
(๒) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(๓) กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(๔) ร่ำรวยผิดปกติ
(๕) ความผิดอื่นที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่น กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เป็นต้น
(6) เจ้าพนักงานของรัฐกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทและบทใดบทหนึ่ง
เป็นฐานความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และหากความผิดของกรรมต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกันและต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน ก็สามารถดำเนินการได้ (ตามมาตรา 30)
(7) กฎหมายกำหนดให้แม้เจ้าพนักงานของรัฐจะมิได้เป็นผู้กระทำความผิด แต่ก็อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่น ความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ความผิดฐานเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น (ตามมาตรา ๑๗๗, ๑๗๘, ๑๗๙ และ 180)
(8) เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ กระทำความผิด เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ (ตามมาตรา ๑๗๓ และ ๑๗๔)
(9) กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนเจ้าพนักงานของรัฐบุคคลใดแล้ว ปรากฏว่ามีตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ หรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานของรัฐนั้นเพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย แม้ตัวการ ผู้ใช้ สนับสนุนดังกล่าวจะมิใช่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจไต่สวนตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ให้ ผู้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ด้วย ซึ่งรวมถึงกรณีการให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ (ตามมาตรา ๓๐ และ ๑๗๖)
การแจ้งเบาะแส/การร้องเรียนการทุจริตต่อหน้าที่ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช.
ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะสามารถดำเนินการได้ หากกรณีที่ได้มีรับแจ้งเบาะแส/ร้องเรียนการทุจริตไว้พิจารณาแล้ว พบว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานอื่นจะดำเนินการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
วิธีการและช่องทางการแจ้งเบาะแส/การร้องเรียนการทุจริต
หากประชาชนพบเห็นเจ้าพนักงานของรัฐทุจริตต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมายังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หลากหลายวิธีการ
การแจ้งเบาะแส/การร้องเรียนการทุจริต สามารถแจ้งเข้ามาที่ สำนักงาน ป.ป.ช. โดยวิธีการดังต่อไปนี้
๑. กล่าวหาเป็นหนังสือ “เรียน เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.” สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ ๓๖๑ ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐ หรือส่งที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 – 9 หรือส่งที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
ทั้งนี้ จะยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นยื่นแทน หรือยื่นทางไปรษณีย์ หรือยื่นทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ก็ได้
๒. กล่าวหาด้วยวาจาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 – 9 หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการบันทึกคำกล่าวหาไว้เป็นพยานหลักฐาน
๓. ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 – 9 หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
๔. ร้องเรียนผ่านทางโทรศัพท์ สำนักงาน ป.ป.ช. หมายเลข ๐ ๒๕๒๘ ๔๘๐๐ – 01 หรือ สายด่วน ป.ป.ช. โทร. ๑๒๐๕ หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 – 9 หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกคำกล่าวหาไว้เป็นพยานหลักฐาน
๕. ร้องเรียนผ่านเครือข่ายเฝ้าระวังของสำนักงาน ป.ป.ช. Application WE หรือ https://www.nacc.go.th/we/
๖. กล่องรับเรื่องร้องเรียน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
๗. ร้องเรียนผ่านช่องทางอื่น ๆ ที่ไม่เป็นทางการ เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์
คำกล่าวหา อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด ดังนี้
๑. ชื่อ-สกุล ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้กล่าวหา
๒. ชื่อหรือตำแหน่งของผู้ถูกร้อง
๓. ข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา พร้อมพยานหลักฐานหรืออ้างพยานหลักฐาน
ผู้กล่าวหาจะเป็นผู้เสียหายหรือมิใช่ผู้เสียหายก็ได้
กรณี ไม่เปิดเผยชื่อ-สกุลจริง ถือว่าเป็น "บัตรสนเท่ห์" แต่ถ้าระบุรายละเอียดการกระทำความผิดเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะรับไว้พิจารณา
สำนักงาน ป.ป.ช. จะไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือกระทำการใดอันจะทำให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลดังกล่าว โดยข้อมูลรายละเอียดจะถูกเก็บเป็นความลับที่สุด
การกล่าวหาเจ้าพนักงานของรัฐ ต้องกล่าวหาในขณะที่ผู้ถูกร้องเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่เกินห้าปี แต่ไม่ตัดอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะยกคำกล่าวหาที่ได้มีการกล่าวหาไว้แล้วหรือกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยขึ้นไต่สวนได้ แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ผู้ถูกร้องพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งดังกล่าว
การเขียนบรรยายการกระทำความผิดต้องมีรายละเอียดตามหัวข้อ ดังนี้
1) หากเป็นการกระทำความผิดต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม จะต้องระบุว่า การกระทำความผิดเกิดขึ้นเมื่อใด มีขั้นตอนหรือรายละเอียดการกระทำความผิดอย่างไร มีพยานบุคคลรู้เห็นเหตุการณ์หรือไม่ (ถ้าไม่สามารถนำมาได้ให้ระบุว่าใครเป็นผู้เก็บรักษา และในเรื่องนี้ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานใด หรือยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อใด และผลเป็นประการใด)
2) หากเป็นการกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ จะต้องระบุว่า ฐานะเดิมของผู้ถูกร้อง และภรรยาหรือสามี รวมทั้งบิดา มารดาของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างไร ผู้ถูกร้อง และภรรยาหรือสามี มีอาชีพอื่น ๆ หรือไม่ ถ้ามีอาชีพอื่นแล้วมีรายได้มากน้อยเพียงใด และทรัพย์สินที่จะแสดงให้เห็นว่าร่ำรวยผิดปกติ มีอะไรบ้าง เช่น
- บ้าน มีจำนวนกี่หลัง ตั้งอยู่ที่ใด (เลขที่บ้าน ถนน ซอย ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด) ซื้อเมื่อใด และราคาขณะซื้อเท่าใด
- ที่ดิน มีจำนวนกี่แปลง ตั้งอยู่ที่ใด (ถนน ซอย ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด)
ซื้อเมื่อใด และราคาขณะซื้อเท่าใด
- รถยนต์ มีจำนวนกี่คัน ยี่ห้อ รุ่น สี หมายเลขทะเบียนรถ ซื้อเมื่อใด จากใคร และราคาขณะซื้อเท่าใด
- เงินฝากที่ธนาคารใด สาขาใด
- ทรัพย์สินอื่นๆ
ประชาชนสามารถติดตามการเรื่องร้องเรียน/การแจ้งเบาะแส ได้ทาง
๑. ทางเว็บไซต์www.nacc.go.th หัวข้อ ติดตามเรื่องร้องเรียน
๒. ทางโทรศัพท์ สำนักงาน ป.ป.ช. (ส่วนกลาง) หมายเลข ๐ ๒๕๒๘ ๔๘๐๐ – 01 หรือ สายด่วน ป.ป.ช. โทร. ๑๒๐๕ หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 – 9 หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
๓. ติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงาน ป.ป.ช. (ส่วนกลาง) หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 – 9 หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
ทั้งนี้ ต้องจำเลขรับเรื่องของสำนักงาน ป.ป.ช. /วัน เดือน ปีที่ยื่นเรื่อง / ชื่อ – สกุล การกระทำความผิดของผู้ถูกร้อง
ข้อพึงระวังในการร้องเรียน/แจ้งเบาะแส และการเปิดเผยข้อมูล
- ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อจะแกล้งบุคคลใดให้ถูกไต่สวน ให้ได้รับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ต้องระวางโทษไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ สามารถร้องเรียนเจ้าพนักงานของรัฐที่กระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น
1. ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สายด่วน ทำเนียบรัฐบาล หมายเลข ๑๑๑๑ บริการรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง หรือรับร้องเรียนผ่านทาง โทร. ๐ ๒๒๘๓ ๑๒๗๑ - ๘๔ โทรสาร 0 2283 1286 – 7
2. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) สายด่วน
โทร. ๑๒๐๖
3. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โทร. ๐ ๒๒๗๑ ๘๐๐๐
4. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สายด่วน 1676 หรือโทรศัพท์หมายเลข 0 2141 9100
5. ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย สายด่วน โทร. ๑๕๖๗ หรือร้องเรียนผ่านทาง โทร. 0 2241 9000 หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ
6. คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด แต่ละจังหวัด
7. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
8. พนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจในเขตอำนาจสอบสวน
โดยหน่วยงาน ตามข้อ 1 – 8 จะส่งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคดีทุจริตไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการต่อไป
4.2 ตัวอย่างการตรวจสอบ
การจัดซื้อจัดจ้าง
การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานภาครัฐต้องถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และต้องสอดคล้องกับหลักการดังต่อไปนี้
๑) คุ้มค่า โดยพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ ในการใช้งานของหน่วยงานของรัฐ มีราคาที่เหมาะสม และมีแผนการบริหารพัสดุที่เหมาะสมและชัดเจน
๒) โปร่งใส โดยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุต้องกระทําโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสม และเพียงพอ
ต่อการยื่นข้อเสนอ มีหลักฐานการดําเนินงานชัดเจน และมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุในทุกขั้นตอน
๓) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยต้องมีการวางแผนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ล่วงหน้าเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีกําหนดเวลาที่เหมาะสม โดยมีการประเมินและเปิดเผยผลสัมฤทธิ์ของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ
๔) ตรวจสอบได้ โดยมีการเก็บข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ
พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มิให้ใช้บังคับแก่
1) การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง
2) การจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์และการบริการที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติโดยวิธีรัฐบาล ต่อรัฐบาลหรือโดยการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศที่กฎหมายของประเทศนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
๓) การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา เพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบัน อุดมศึกษา หรือการจ้างที่ปรึกษา ทั้งนี้ ที่ไม่สามารถดําเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ได้
๔) การจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ องค์การต่างประเทศทั้งในระดับรัฐบาลและที่มิใช่ระดับรัฐบาล มูลนิธิ หรือเอกชนต่างประเทศ ที่สัญญาหรือข้อกําหนดในการให้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น
๕) การจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ องค์การต่างประเทศทั้งในระดับรัฐบาลและที่มิใช่ระดับรัฐบาล มูลนิธิหรือเอกชนต่างประเทศ ที่สัญญาหรือข้อกําหนดในการให้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยใช้เงินกู้หรือเงินช่วยเหลือนั้นร่วมกับเงินงบประมาณ ซึ่งจํานวนเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือที่ใช้นั้นเป็นไป ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ นโยบายประกาศกําหนดในราชกิจจานุเบกษา
๖) การจัดซื้อจัดจ้างของสถาบันอุดมศึกษาหรือสถานพยาบาลที่เป็นหน่วยงานของรัฐโดยใช้เงินบริจาครวมทั้งดอกผลของเงินบริจาค โดยไม่ใช้เงินบริจาคนั้นร่วมกับเงินงบประมาณ
หน่วยงานที่สนับสนุนดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ คือ กรมบัญชีกลาง
มีหน้าที่ในการดูแลระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ดูแลและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดทำฐานข้อมูลการอ้างอิง รวบรวม วิเคราะห์ และประเมินผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติ จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตามหลักวิชาชีพ
การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ
การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ มี 3 วิธี คือ
1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป เป็นการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ
2) วิธีคัดเลือก เป็นการเชิญชวนเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้เข้ายื่นข้อเสนอ เว้นแต่งานนั้นมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดน้อยกว่า 3 ราย ซึ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างประเภทนี้จะดำเนินการได้ในกรณี
- ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้วไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก
- พัสดุที่มีคุณลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษหรือซับซ้อน หรือต้องผลิต ก่อสร้าง หรือให้บริการ
โดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือมีความชำนาญเป็นพิเศษ หรือมีทักษะสูงและผู้ประกอบการมีจำนวนจำกัด
- มีความจำเป็นเร่งด่วนอันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้
- ลักษณะของการใช้งานหรือมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ
- ต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศหรือดำเนินการโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ
- ใช้ในราชการลับหรือเป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของทางราชการหรือเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
- งานจ้างซ่อมพัสดุที่จำเป็นถอดตรวจให้ทราบความชำรุดเสียหายเสียก่อนจึงจะ ประมาณค่าซ่อมได้
- กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
3) วิธีเฉพาะเจาะจง หน่วยงานภาครัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่ง ให้เข้ายื่นข้อเสนอหรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคากับหน่วยงานของรัฐโดยตรง ซึ่งวิธีการจัดซื้อจัดจ้างประเภทนี้จะดำเนินการได้ในกรณี
- ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอไม่ได้รับการคัดเลือก
- การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่การผลิต จำหน่าย หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้าง ครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
- มีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศ และไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้
- มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุโดยฉุกเฉินเนื่องจากอุบัติภัยหรือธรรมชาติพิบัติภัย และการจัดซื้อ
จัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง
- เป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้จัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจำเป็น ต้องจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติม โดยมูลค่าของพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมจะต้องไม่สูงกว่าพัสดุที่ได้จัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว
- เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาด โดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของต่างประเทศ
- ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง
- กรณีอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
งานจ้างที่ปรึกษา
งานจ้างที่ปรึกษาต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ในด้านของผลงานและประสบการณ์ของที่ปรึกษา วิธีการบริหารและวิธีการปฏิบัติงาน จำนวนบุคลากรที่ร่วมงาน ประเภทของที่ปรึกษาที่รัฐต้องส่งเสริมหรือสนับสนุน ข้อเสนอทางด้านการเงิน เกณฑ์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งงานจ้างที่ปรึกษา มี 3 วิธี คือ
1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป เป็นการเชิญชวนให้ที่ปรึกษาทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข
ที่กำหนดเข้ายื่นข้อเสนอ โดยให้ใช้กับงานที่ไม่ซับซ้อน งานที่มีลักษณะ เป็นงานประจําของหน่วยงานของรัฐ หรืองานที่มีมาตรฐานตามหลักวิชาชีพ และมีที่ปรึกษาซึ่งสามารถทํางานนั้นได้เป็นการทั่วไป
2) วิธีคัดเลือก เป็นการเชิญชวนเฉพาะเฉพาะที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้ยื่นข้อเสนอ เว้นแต่มีที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดน้อยกว่า 3 ราย ซึ่งวิธีการจัดจ้างประเภทนี้จะดำเนินการได้ในกรณี
- ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับ การคัดเลือก
- เป็นงานที่ซับซ้อน ซับซ้อนมาก หรือที่มีเทคนิคเฉพาะไม่เหมาะที่จะดําเนินการโดยวิธีประกาศ
เชิญชวนทั่วไป
- เป็นงานจ้างที่มีที่ปรึกษาในงานที่จะจ้างนั้นจํานวนจํากัด
- กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
3) วิธีเฉพาะเจาะจง เชิญชวนเฉพาะที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่ง
ให้เข้ายื่นข้อเสนอหรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคาโดยตรง ซึ่งวิธีการจัดจ้างประเภทนี้จะดำเนินการได้ในกรณี
- ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
- งานจ้างที่มีวงเงินค่าจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
- เป็นงานที่จําเป็นต้องให้ที่ปรึกษารายเดิมทําต่อจากงานที่ได้ทําไว้แล้วเนื่องจากเหตุผลทางเทคนิค
- เป็นงานจ้างที่มีที่ปรึกษาในงานที่จะจ้างนั้นจํานวนจํากัดและมีวงเงินค่าจ้างครั้งหนึ่ง ไม่เกินวงเงินตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
- เป็นงานจ้างที่มีที่ปรึกษาในงานที่จะจ้างนั้นเพียงรายเดียว
- เป็นงานที่มีความจําเป็นเร่งด่วนหรือที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ หากล่าช้าจะเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือความมั่นคงของชาติ
- กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
งานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง
งานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง มี 4 วิธี คือ
1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ใช้กับงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่มีลักษณะไม่ซับซ้อน
2) วิธีคัดเลือก เป็นงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่หน่วยงานของรัฐ เชิญชวนผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้เข้ายื่นข้อเสนอ เว้นแต่ในงานนั้นมีผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กําหนดน้อยกว่า 3 ราย ซึ่งวิธีการจัดจ้างประเภทนี้จะดำเนินการได้ในกรณี
- ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
- เป็นงานจ้างที่มีลักษณะซับซ้อนหรือซับซ้อนมาก
- เป็นงานเกี่ยวกับการออกแบบหรือใช้ความคิด เช่น รูปแบบสิ่งก่อสร้าง ซึ่งหน่วยงานของรัฐ ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะกําหนดรายละเอียดเบื้องต้นได้
- กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
3) วิธีเฉพาะเจาะจง เป็นงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่หน่วยงานของรัฐเลือกจ้างผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งซึ่งเคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถแล้ว ตามที่คณะกรรมการดําเนินงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้พิจารณาเสนอแนะ โดยให้กระทําได้ในกรณีดังต่อไปนี้
- ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
- ให้ใช้กับงานจ้างที่มีวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้างไม่เกินวงเงินตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
- เป็นงานที่มีความจําเป็นเร่งด่วนหรือที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ หากล่าช้าจะเสียหายแก่หน่วยงานของรัฐหรือความมั่นคงของชาติ
- เป็นงานที่จําเป็นต้องให้ผู้ให้บริการรายเดิมทําต่อจากงานที่ได้ทําไว้แล้ว เนื่องจากเหตุผลทางเทคนิค
- กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
4) วิธีประกวดแบบ เป็นงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวน
ผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดให้เข้ายื่นข้อเสนอ เพื่อออกแบบงานก่อสร้าง
ที่มีลักษณะพิเศษ เป็นที่เชิดชูคุณค่าทางด้านศิลปกรรมหรือสถาปัตยกรรมของชาติ หรืองานอื่นตามที่กําหนด
ในกฎกระทรวง
การตรวจสอบจากภายนอกหน่วยงาน ได้กำหนดให้ภาคประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้ามา
มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้ภาคประชาชน
มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดของการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจกำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมด้วยก็ได้ ซึ่งข้อตกลงคุณธรรมตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้จัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอ โดยฝ่ายหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและฝ่ายผู้ประกอบการที่จะเข้ายื่นข้อเสนอต้องตกลงกันว่าจะไม่กระทําการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และให้มีผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่จําเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทําร่างขอบเขตของงานหรือรายละเอียดของพัสดุที่จะทําการจัดซื้อจัดจ้างและร่างเอกสารเชิญชวนจนถึงขั้นตอนสิ้นสุดโครงการ
นอกจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่หน่วยงานของรัฐ
ต้องดำเนินการตามแล้ว ยังมีระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม ซึ่งระเบียบนี้ได้กำหนดถึงการร้องเรียนไว้ในหมวด 10 การร้องเรียน ดังนี้
ข้อ 220 ผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศ ที่ออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีสิทธิร้องเรียน ไปยังหน่วยงานของรัฐนั้นหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แล้วแต่กรณีก็ได้
การยื่นข้อร้องเรียนตามวรรคหนึ่ง ต้องดําเนินการภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่า หน่วยงานของรัฐนั้นมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ กฎกระทรวง ระเบียบ หรือประกาศที่ออกตามความในกฎหมาย ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ
ข้อ ๒๒๑ การร้องเรียนต้องทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ร้องเรียน ในกรณีผู้ร้องเรียนเป็นนิติบุคคล ต้องลงลายมือชื่อของกรรมการซึ่งเป็นผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคลและประทับตราของนิติบุคคล (ถ้ามี) หนังสือร้องเรียนตามวรรคหนึ่ง ต้องใช้ถ้อยคำสุภาพ และระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลอันเป็นเหตุแห่งการร้องเรียนให้ชัดเจน พร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปด้วย
4.2.1 การตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง
การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการหลีกเลี่ยงไม่ทำตามกฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ประชาชนสามารถสังเกตได้จากตารางเปรียบเทียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างกับ
การกระทำที่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีพฤติการณ์ที่เบี่ยงเบนไปจากหลักการที่ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
วิธีการตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง สามารถพิจารณาได้ดังนี้
ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง |
การกระทำที่สามารถตรวจสอบได้ |
1. การตั้งงบประมาณในกิจกรรม/รายการ รายการนั้น ๆ สอดคล้องหรือตรงกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน หรือไม่ |
- วัสดุอุปกรณ์มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน หรือมีราคาสูงเกินราคามาตรฐานครุภัณฑ์ของสำนักงบประมาณ หรือราคาในท้องตลาด หรือราคากลาง หรือไม่ |
2. การส่งมอบงานและการตรวจรับงาน |
- การส่งมอบวัสดุเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา หรือไม่ |
3. การกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะหรือเงื่อนไข และเกณฑ์ในการพิจารณาผล |
- การกำหนดคุณสมบัตินั้นเอื้อประโยชน์เฉพาะให้กับผู้รับจ้าง/ผู้ขายบางราย หรือมีการล็อกสเปคให้เข้าเสนอราคาได้เฉพาะพวกพ้อง |
4. การรับซอง, เปิดซองสอบราคา |
- มีการเฝ้าหน้าห้องขายเอกสารเพื่อคอยพูดคุยกีดกันผู้จะมาซื้อแบบไม่ให้ซื้อแบบ โดยใช้วิธีการขอความร่วมมือหรือจ่ายเงินค่าน้ำมันรถ หรือมีการข่มขู่ หรือไม่ |
5. การพิจารณาผลและการดำเนินการตามสัญญาเป็นไปตามเงื่อนไขเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ชนะการเสนอราคาหรือไม่ |
- ผู้รับจ้าง/ผู้ขายที่ได้รับการคัดเลือกมีส่วนได้ส่วนเสียหรือเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในการอนุมัติ หรือไม่ หรือเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับจ้างเป็นประจำ หรือไม่ |
6. การกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะหรือเงื่อนไขและเกณฑ์พิจารณาผล |
มีการกำหนดคุณสมบัติเอื้อประโยชน์เฉพาะผู้รับจ้างบางรายหรือ |
วิธีการอิเล็กทรอนิกส์ |
|
1. การกำหนดราคากลาง |
- คณะกรรมการกำหนดราคากลางได้กำหนดราคากลางหรือคำนวณราคากลางของพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างในรายการถูกต้องตามข้อเท็จจริง/หลักวิชาการ/หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือไม่ หรือคำนวณราคากลาง โดยไม่สามารถพิสูจน์หรืออ้างอิงแหล่งที่มาของราคากลางที่เชื่อถือได้ |
2. การกำหนดรายละเอียดร่างขอบเขตงาน (TOR) |
- การกำหนดคุณสมบัติเอื้อประโยชน์เฉพาะให้กับผู้รับจ้าง/ผู้ขายบางรายหรือมีการล็อกสเปคให้เข้าเสนอราคาได้เฉพาะพวกพ้องของตนหรือมีการแจ้งให้ผู้รับจ้าง/ผู้ขายทราบล่วงหน้า หรือไม่ |
3. การยื่นซอง/การเสนอราคาการยื่นเสนอราคาผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) |
- ผู้รับจ้าง/ผู้ขายมีการตกลงสมยอมราคากันเองก่อนที่จะเสนอราคาหรือไม่ |
4. การพิจารณาผล |
ผู้รับจ้าง/ผู้ขายที่ได้รับการคัดเลือกมีส่วนได้ส่วนเสียหรือเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในการอนุมัติหรือไม่ หรือเป็นผู้ประกอบการได้รับงานเป็นประจำ หรือไม่ |