การขับเคลื่อนจริยธรรมของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี
เมื่อวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.30 น. สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี จัดประชุมสำนักงานฯ ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุม สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี โดยนายกิจติพงค์ ขลิบแย้ม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี ประธานในที่ประชุมได้ ขับเคลื่อนจริยธรรมของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี ดังนี้
3.2. การขับเคลื่อนจริยธรรมของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี นายกิจติพงค์ ขลิบแย้ม ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี ได้กล่าวมอบนโยบายเรื่องจริยธรรมของข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ตามระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2563 จริยธรรมในการดำรงตนสำหรับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มีหลักที่จะต้องยึดถือปฏิบัติ ดังนี้
- ต้องรักษาชื่อเสียงของตัวเอง ภาพลักษณ์ของหน่วยงาน และรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ มิให้เสื่อมเสีย
- ห้ามมิให้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ส่งผลต่อการใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของเรา
- ต้องไม่ให้บุคคลภายในครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือบุคคลใกล้ชิดเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการของเราไปแสวงหาผลประโยชน์
- ต้องระมัดระวังในการแสดงตน หรือคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์กับเรื่องร้องเรียน
- ต้องหลีกเลี่ยงการคบหากับบุคคลที่มีความประพฤติในทางเสื่อมเสีย
- ต้องไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศ
- และในฐานะที่ผมเป็นผู้บังคับบัญชา ผมก็จะใช้หลักของความเที่ยงธรรมในการพิจารณา/สรรหา/กลั่นกรอง/แต่งตั้ง/โยกย้าย รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติราชการด้วย
จริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มีหลักที่จะต้องยึดถือปฏิบัติ ดังนี้
- ต้องยึดมั่นและยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย
- ต้องมีจิตสำนึกที่ดีในการให้บริการ ให้บริการอย่างเป็นธรรมและเที่ยงธรรม
- ต้องสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคีภายในองค์กร
- ข้อมูลข่าวสารที่สามารถเผยแพร่ให้ประชาชนทราบได้ ก็ให้ดำเนินการเผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการได้
- ต้องรักษาความลับของทางราชการ อะไรที่เป็นความลับของทางราชการก็ไม่นำไปเปิดเผย เพราะจะสร้างความเสียหายให้สำนักงานฯ
- ต้องไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์
- ต้องไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่น มาเป็นเหตุในการใช้ดุลพินิจ ตามอำนาจหน้าที่
- ต้องอุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปทำธุระส่วนตัว หากพอที่จะอุทิศเวลาให้ราชการได้ อยากให้พวกเราทำ แต่ต้องไม่กระทบชีวิตประจำวันของพวกเราด้วย
- ต้องดูแลและรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า และรักษาประโยชน์ของทางราชการ
- ต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่เอื้อประโยชน์หรือกลั่นแกล้งผู้อื่นในการปฏิบัติราชการ
- ต้องไม่กระทำการโดยไม่สุจริต หรือเอื้อประโยชน์ หรือกลั่นแกล้งผู้อื่นในการปฏิบัติราชการ
จริยธรรมในการตรวจสอบหรือไต่สวน มีหลักที่จะต้องยึดมั่นในหลักจริยธรรม ดังนี้
- ต้องอำนวยความยุติธรรมด้วยความรวดเร็ว รับผิดชอบ เป็นธรรม โปร่งใส รอบคอบ และตรวจสอบได้
- ต้องรักษาความลับของทางราชการ ไม่เปิดเผยข้อมูลและพยานหลักฐานให้ผู้อื่นทราบ
- ต้องถอนตัวจากการตรวจสอบหรือไต่สวน เมื่อมีเหตุที่ตนเองอาจถูกคัดค้าน และต้อง ไม่กระทำการจูงใจให้ผู้พิจารณาตรวจสอบ/ไต่สวน พิจารณาโดยไม่เป็นธรรม
- ผู้ที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและไต่สวน จะต้องประพฤติตนเป็นผู้น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้
- ต้องปฏิบัติต่อผู้กล่าวหา ผู้ถูกร้อง ผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พยาน และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเสมอภาค โดยไม่เลือกปฏิบัติ
- ต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการ ให้คำมั่นสัญญา จูงใจ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น และต้องรวบรวมพยานหลักฐานที่อาจพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกร้อง ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย
- ก่อนการแจ้งข้อกล่าวหา ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่มีตามรัฐหมายรัฐธรรมนูญ