Contrast
banner_default_3.jpg

การกันบุคคลไว้เป็นพยานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 193

24/12/2566

การกันบุคคลไว้เป็นพยานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

 

ศิรินันท์  วัฒนศิริธรรม
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

 

 

 

 

 

คำสำคัญ: การกันบุคคลไว้เป็นพยาน  พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  พยาน

 

 

 

 

 

PDF ดาวน์โหลด

 

บทคัดย่อ
         การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบทบัญญัติกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ
การกันบุคคลไว้เป็นพยานของสำนักงาน ป.ป.ช. และต่างประเทศ 2) วิเคราะห์รูปแบบและลักษณะของการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการกันบุคคลไว้เป็นพยาน และ 3) เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาปรับปรุงมาตรการการกันบุคคลไว้เป็นพยานของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้มีระสิทธิภาพ โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ที่ศึกษาวิจัยจากข้อมูลเอกสาร งานวิจัย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกันบุคคลไว้เป็นพยานของสำนักงาน ป.ป.ช. และต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ และประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงข้อมูลสถิติคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้กันบุคคลไว้เป็นพยานในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2564 และการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุด         
       ผลการศึกษาพบว่า ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้กันบุคคลไว้เป็นพยาน จำนวนทั้งสิ้น 133 เรื่อง โดยการทุจริตในงานจัดซื้อจัดจ้างเป็นรูปแบบการกระทำความผิดที่มีการกันบุคคลไว้เป็นพยานมากที่สุด มีจำนวน 101 เรื่อง ซึ่งมีลักษณะของการกระทำความผิด เช่น การมีส่วนได้เสียในสัญญาการปกปิดประกาศประกวดราคา/สอบราคา เป็นต้น รองลงมาเป็นการทุจริตในงานการเงินและบัญชี มีจำนวนคดีที่มีการกันบุคคลไว้เป็นพยาน 19 เรื่อง มีลักษณะของการกระทำความผิด ได้แก่ การเบิกจ่ายเงินในโครงการเป็นเท็จ และการเบียดบังเงินหรือทรัพย์สินของหน่วยงาน การทุจริตในงานบริหารงานบุคคล มีจำนวนคดีที่มีการกันบุคคลไว้เป็นพยาน 8 เรื่อง มีลักษณะของการกระทำความผิด ได้แก่ การเรียกรับเงิน และการช่วยเหลือผู้เข้าสอบให้เป็นผู้สอบผ่าน การทุจริตในงานบริการ มีจำนวนคดีที่มีการกันบุคคลไว้เป็นพยาน 4 เรื่อง มีลักษณะของการกระทำความผิด ได้แก่ การไม่ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกใบอนุญาตโดยมิชอบ และการเรียกรับเงิน และการทุจริตในงานการบังคับใช้กฎหมาย มีจำนวนคดีที่มีการบุคคลไว้เป็นพยานน้อยที่สุด จำนวน 1 เรื่อง โดยมีลักษณะของการกระทำความผิด คือ การจัดทำเอกสารเป็นเท็จ
        สำหรับในการดำเนินการกันบุคคลไว้เป็นพยานของสำนักงาน ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พบว่ามีปัญหาอุปสรรคหลายประการ เช่น ปัญหาการตีความถ้อยคำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของบุคคลที่อาจถูกกันเป็นพยานที่ไม่มีการกำหนดคำนิยามที่ชัดเจน การไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองการถูกฟ้องคดีแก่ผู้ถูกกันเป็นพยาน กระบวนการนำเข้าพิจารณาการกันบุคคลไว้เป็นพยานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ใช้ระยะเวลานาน การขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในกรณีที่ผู้ถูกกันเป็นพยานไม่ไปเบิกความหรือกลับคำให้การในชั้นศาล เป็นต้น ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาปรับปรุงมาตรการกันบุคคลไว้เป็นพยานของสำนักงาน ป.ป.ช. เช่น การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ให้มีความครอบคลุมการคุ้มครองผู้ถูกกันเป็นพยานจากการถูกจำเลยฟ้องคดี การเร่งรัดให้มีการบรรจุเรื่องการพิจารณากันบุคคลไว้เป็นพยานเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในกรณีที่ผู้ถูกกันเป็นพยานไม่ไปเบิกความหรือกลับคำให้การในชั้นศาล เป็นต้น   

เอกสารอ้างอิง (References)

คณิต ณ นคร. (2521). พยานแผ่นดินตามกฎหมายแองโกลอเมริกัน. อัยการนิเทศ, 1-2(40), 73-108.

ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2554. (2554, 17 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 128 ตอนที่ 50 ก, หน้า 25–27.

ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคลไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2561. (2561, 19 ตุลาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 135
ตอนที่ 84 ก, หน้า 10-12.

ปรียานาถ เผือกสุวรรณ. (2559). การดำเนินคดีภายใน State Court ของประเทศสิงคโปร์. สำนักการต่างประเทศ. https://oia.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/9344/iid/93814

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561. (2561, 21 กรกฎาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 135 ตอนที่ 52 ก, หน้า 1-80.

วสวัตติ์ ปัญญาจิรภาส. (2562). ปัญหาการบังคับใช้และการตรวจสอบการกันบุคคลไว้เป็นพยานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย. (2559). โครงการกฎหมายของประเทศสิงคโปร์และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนของประเทศสิงคโปร์. https://lawforasean. krisdika.go.th/File/files/รายงานข้อมูลกฎหมายของประเทศสิงคโปร์%20(ด้านเศรษฐกิจ)(1).pdf

สำนักงาน ป.ป.ช.. (2565). รายงานสถานการณ์การทุจริตประเทศไทยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564. ม.ป.พ..

สุชิน ต่างงาม. (2529). การกันผู้ร่วมกระทำผิดเป็นพยาน [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต] มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อรรณพ ลิขิตจิตถะ, ณรงค์ รัตนานุกูล และคมกริช หาญไชย. (2548). มาตรการส่งเสริมบุคคลให้ความช่วยเหลือหรือให้ข้อมูลแก่หน่วยงานที่ บังคับใช้กฎหมาย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

Constitution of the Republic of Singapore.

Criminal Procedure Code 2010.

Department of Justice. (2022). Justice Manual Title 9: Criminal, 9-23.000 Witness Immunity. https://www.justice.gov/jm/jm-9-23000-witness-immunity#9-23.100

Evidence Act 1893.

Gary CHAN Kok Yew. (2013). Prosecutorial Discretion and the Legal Limits in Singapore.
https://ink.library.smu.edu.sg/cgi/viewcontent.cgi?Section=3137&context=sol_research

Prevention of Corruption Act 1960.

United State Code.

Related