จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 410
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ
กับการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ[1]
State Officials’ Positions and Disclosure of Accounts Showing
Particular of Assets and Liabilities to the Public
การเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ใช้อำนาจรัฐในประเทศไทยปัจจุบันสามารถดำเนินการเปิดเผยโดยจำแนกได้ 4 กลุ่มตำแหน่ง คือ (1) นายกรัฐมนตรี (2) รัฐมนตรี (3) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ (4) สมาชิกวุฒิสภา อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจรัฐหาได้ถูกใช้โดย 4 กลุ่ม ตำแหน่งข้างต้นเท่านั้น หากแต่ยังมีการใช้อำนาจรัฐจากข้าราชการประจำในระบบราชการอีกด้วย ในกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์กรอิสระ จึงกำหนดให้ข้าราชการระดับสูงต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบว่าได้ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อพวกพ้องหรือไม่
คณะผู้วิจัยเห็นว่าการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน 4 กลุ่มตำแหน่งข้างต้นยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความโปร่งใสในการใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ จึงควรมีการศึกษาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของต่างประเทศ โดยพิจารณากรณีต่างประเทศได้แก่ (1) ประเทศสหรัฐอเมริกา (2) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ (3) ประเทศอินโดนีเซีย การเลือกประเทศที่ศึกษานี้ อยู่บนพื้นฐานของการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI)
จากการศึกษาเปรียบเทียบดังกล่าว คณะผู้วิจัยสรุปหลักเกณฑ์ในการเปิดเผยบัญชีแสดงรายทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะได้ ดังนี้ (1) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง (2) เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง (3) เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ดุลพินิจอันจะเกิดการให้คุณหรือให้โทษกับประชาชนในประเทศ (4) เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ดำรงความยุติธรรมในประเทศ และ (5) เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในประเทศ
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (2562 : เขียนบทความโดย เถกิงศักดิ์ ไชยา)
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/files/tex5.pdf