จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 555
มาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความร่วมมือของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การ
ทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา[1]
The Appropriate Measures for Preventing the Influential Group Networks and Organized Corruption in the educational Sector
การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาตามลำดับ และมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นมีการเตรียมการและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ
ในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มักมีนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องและมีการร่วมมือกันทุจริตคอร์รัปชันที่เรียกกันว่า “การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ” เช่นเดียวกับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (Organized Corruption) ที่เกิดขึ้นในภาคการศึกษาของไทยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อการทำลายคุณภาพของเยาวชนในชาติ อันอาจจะนำไปสู่ความถดถอยของคุณภาพสังคมไทยในอนาคตที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบจากบรรดาข้าราชการระดับสูงหรือบุคลากรทางการศึกษา ที่มีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบและเป็นเครือข่ายกับกลุ่มอิทธิพลอื่นๆ อันได้แก่ กลุ่มนักการเมือง และกลุ่มนักธุรกิจบางรายในเครือข่ายของตนประการสำคัญคือ การทุจริตคอร์รัปชันประเภทนี้ “อาจนำไปสู่ความล้มเหลวทางการศึกษาได้และความล้มเหลวทางการศึกษาอาจนำไปสู่การล่มสลายของชาติได้
ในท้ายที่สุด” บทความนี้ได้เสนอมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความร่วมมือระหว่างเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล
ที่อาจนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาได้ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ มุ่งหาหลักฐานและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ จากการกำหนดกลุ่มเป้ายหมาย การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล
แนวคิดสำคัญในการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยคือ 1. “เครือข่ายกลุ่มอิทธิพล” อันบ่งชี้ถึงอำนาจแห่งการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย ซึ่งลักษณะของการรวมตัวกันนั้นย่อมเป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจ ทั้งที่เป็นพลังภายในกลุ่มเองและเป็นพลังอิทธิพลต่อภายนอกด้วยและเมื่อมีการรวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มอิทธิพล ก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจทุกรูปแบบและทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของกลุ่มตน ซึ่งก็คือการแสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าการกระทำนั้นจะผิดกฎหมายหรือละเมิดจริยธรรมของสังคมก็ตาม 2. “การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ” อันเป็นเรื่องการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย นับตั้งแต่ระดับผู้กำหนดนโยบายและวางแผน ไปจนถึงระดับผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายต่างๆ และกลุ่มคนอื่นๆในเครือข่ายของตน การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบจัดได้ว่าเป็นการทุจริตที่มีประสิทธิภาพในระดับสูง เนื่องจากบางครั้งอาจถูกบงการและถูกควบคุมโดยบุคคลที่มีอำนาจอยู่ในตำแหน่งรัฐบาลระดับสูง และมีการร่วมมือกับข้าราชการระดับสูง
ซึ่งผลการศึกษาพบว่ารูปแบบและลักษณะความร่วมมือของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 รูปแบบหลัก คือ 1. รูปแบบและลักษณะความร่วมมือของการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาโดยทั่วไป เช่น การทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้าง และการจัดซื้อวัสดุและครุภัณฑ์ทางการศึกษา การทุจริตจากระบบการบริหารงานบุคคลในลักษณะต่างๆ และการทุจริตจากการเบี่ยงเบนงบประมาณที่ได้รับทั้งจากส่วนกลางและเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ 2. รูปแบบเฉพาะความร่วมมือการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบระหว่างเครือข่ายกลุ่มอิทธิพล ได้แก่ กรณีการทุจริตคอร์รัปชันจากการบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและการทุจริตจากการก่อสร้างสนามฟุตซอล
จากผลการศึกษาวิจัย จึงมีข้อเสอนแนะมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันความร่วมมือของเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา ที่ประกอบด้วยมาตรการต่าง ๆ คือ มาตรการป้องกันโดยการสร้างกลไกและสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาสังคม มาตรการป้องกันด้านกฎหมาย/ระเบียบต่าง ๆ มาตรการด้านการกำหนดนโยบายทางการศึกษา มาตรการด้านการบริหารระบบงบประมาณ และระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรการด้านการบริหารงานบุคคลและข้อเสนอต่อสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่อง มาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาเป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้หากได้มีการนำไปปฏิบัติจริง จากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว ก็น่าที่จะทำให้การทุจริตคอร์รัปชันในภาคการศึกษาลดลงไปได้มากอันจะเกิดผลดีต่อระบบการศึกษาของชาติและเกิดประโยชน์ต่อเยาวชนเป็นอย่างมาก
ข้อเสนอแนะ ควรให้ความสำคัญกับหัวข้อการศึกษาวิจัย เรื่อง “การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา” ให้มากขึ้น เนื่องจากผลการศึกษาพบการทุจริตในวงการศึกษาแทบทุกระดับ โดยที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไม่อาจดำเนินการได้ทั้งหมด และในอนาคตบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม ในการตรวจสอบภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคธุรกิจเอกชนที่ทุจริตประพฤติมิชอบจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น อันสอดคล้องกับแนวคิดประชาธิปไตยในทางสากล และนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการมีระบบการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคม และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 และการปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้มีการวิจัยในหัวข้อนี้ ผลการศึกษาในหัวข้อนี้ยังจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการชี้ช่องทาง และช่วยกระตุ้นให้ประชาชนได้ลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นภายในสังคมของเขาเอง เนื่องจากการแก้ไขปัญหาและการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมสมัยใหม่ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยที่มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (1 กรกฎาคม 2560 : เขียนบทความโดย พรอัมรินทร์ พรหมเกิด วรัญญา ศรีริน
เพิ่ม หลวงแก้ว) สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/files/gallery/tex2%20-%20Copy.pdf