จากไชต์: วารสารวิชาการ
จำนวนผู้เข้าชม: 341
เศรษฐกิจนอกกฎหมายกับการฟอกเงินในประเทศไทย[1]
Illegal Economy and Money Laundering in Thailand
การค้ายาเสพติด การพนัน และการคอร์รัปชัน ในประเทศไทยถือเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย (Illegal Economy) ซึ่งการศึกษานี้จะเป็นการต่อยอดทางแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจนอกกฎหมายของสังศิต พิริยะ รังสรรค์ (2547) แล้วนั้นยังเป็นการสังเคราะห์แนวคิดทฤษฎีร่วมกันระหว่างแนวคิดเศรษฐกิจนอกกฎหมาย
กับการฟอกเงินในบริบทประเทศไทยว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร และทำไมการคงอยู่ของเศรษฐกิจนอกกฎหมายทั้งสามประเภทยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างรากลึก จนสร้างสายสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านโครงสร้างสถาบัน กระบวนการ และการใช้อำนาจรัฐอย่างลึกซึ้ง จนกลายเป็นปัจจัยค้ำจุนให้เศรษฐกิจนอกกฎหมายประเภทดังกล่าวในประเทศไทยดำรงอยู่ได้จากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย (Contemporary Society) จากการศึกษาพบว่า เศรษฐกิจนอกกฎหมายทั้งสามประเภทนั้น จะถูกหล่อเลี้ยงค้ำจุนจากความสัมพันธ์แบบดั้งเดิม (Traditional Relationship) และวามสัมพันธ์ผ่านแรงขับของกลไกตลาด (Market Forces) ทั้ง ๆ ที่ยุคสมัยของสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ตาม ดังนั้น แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจนอกกฎหมายในไทยไม่ได้ผูกติดกับตลาดไปเสียทั้งหมด แต่ยังอาศัยความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการแลกเปลี่ยนกันแทนกลไกตลาดอีกด้วย ซึ่งอาจจะเรียกภาวะนี้ว่า ความล้มเหลวของตลาด (Market Failure) หมายถึง การที่ตลาดไม่สามารถทำงานตามกลไกเพื่อนำมาซึ่งการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพได้ หรือสถานการณ์การที่ตลาดไม่อาจนำมาซึ่งความต้องการของสาธารณะได้ เช่น เกิดจากราคาต่ำหรือสูงเกินไป นโยบายของรัฐเปลี่ยนแปลงไป การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Asymmetric Information) รวมทั้งนวัตกรรม (Innovation) ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยความล้มเหลวของตลาดเศรษฐกิจนอกกฎหมายในไทย ทั้งยาเสพติด การพนัน และคอร์รัปชันยังสะท้อนได้จากการสร้างกลไกการทำงานแบบองค์กรมีเครือข่ายของตัวเองขึ้นมาคู่ขนานไปกับองค์กรธุรกิจทั่วไปที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจถูกกฎหมาย (Legal Economy) ทั้งนี้ ตลาดเศรษฐกิจนอกกฎหมายในไทยเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เพราะมีอุปสงค์จากผู้เล่น/ผู้ซื้อ และอุปทานจากผู้ประกอบการ/ผู้ขายจำนวนมากเช่นกัน ทั้งยังเป็นเครือข่ายภายในประเทศและเชื่อมต่อกับพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพื้นที่แนวชายแดนสะท้อนบทบาทรัฐของแต่ละประเทศซึ่งมีระดับการแทรกแซงตลาดเศรษฐกิจนอกกฎหมายที่แตกต่างกัน เช่น การพนัน ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล
มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และลาว โดยรัฐบาลไทยถือว่ากิจกรรมเหล่านั้นผิดกฎหมาย (Illegal Economy) ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ถูกกฎหมาย (Legal Economy) ดังนั้น เศรษฐกิจนอกกฎหมาย ทั้งยาเสพติด การพนัน และคอร์รัปชัน ในประเทศไทยมีความรุนแรงมาก มีรูปแบบและกระบวนการที่ซับซ้อน มีการฟอกเงินผ่านหลายช่องทาง ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญามีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหา เช่น ทหาร ตำรวจ ป.ป.ส. ดีเอสไอ และ ปปง. แต่ยังขาดการบูรณาการร่วมมือกันอย่างจริงจัง จึงส่งผลทำให้เหล่าอาชญากรเศรษฐกิจนอกกฎหมายเหล่านั้น นำเงินที่ได้ไปฟอกผ่านสถาบันการเงิน ธนาคาร และการบริการการเงินสมัยใหม่ รวมทั้งการนำไปฟอกผ่านการลงทุนหรือซื้อกิจการต่างๆ ที่มีการใช้เงินสดจำนวนมากๆ
[1] สรุปจากวารสารวิชาการ ป.ป.ช. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (2562 : เขียนบทความโดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ)
สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.nacc.go.th/files/tex3%20-%20Copy.pdf