Contrast
banner_default_3.jpg

การดำเนินการตามนโยบาย No Gift Policy และกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 128

จากไชต์: สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี
จำนวนผู้เข้าชม: 115

04/06/2567

สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรรบุรี ดำเนินการประชุมสำนักงานประจำเดือนเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรีพร้อมทั้งแถลงเจตน์จำนง "นโยบายไม่รับของขวัญ หรือของกำนัลจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)"

  1. นายนิติศักดิ์ วงษ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ประกาศเจตนารมณ์นโยบายการไม่รับของขวัญของกำนัลจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) พร้อมทั้งกำชับแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ทุกคนให้ปฏิบัติตามนโยบายการไม่รับของขวัญของกำนัลจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) เพื่อให้เกิดความตระหนัก มีจิตสำนึกและเสริมสร้างวัฒนธรรมในการปฏิบัติราชการให้มีความโปร่งใสและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
  2. นายนิติศักดิ์ วงษ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติของตามมาตรา 128 อย่างเคร่งครัดโดยข้อกำหนดของมาตรา 128 เจ้าพนักงานของรัฐจะไม่สามารถรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดได้เลย และบังคับต่อไปแม้จะพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วไม่ถึงสองปีด้วย แต่การจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดได้นั้นต้องเข้าข้อยกเว้น 3 ประการ ดังนี้
    2.1 การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดย อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หมายถึง การรับเงินเดือน เบี้ยงเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าวิทยากร ของที่ระลึกตามระเบียบสวัสดิการ เป็นต้น กล่าวคือ การรับทรัพย์สินตามที่กฎหมายกำหนดให้ เจ้าพนักงานของรัฐสามารถรับได้
          2.2 การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติที่ให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดตามข้อยกเว้นนี้จะรับได้เฉพาะจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติที่ให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป เท่านั้น
          2.3 การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยามีด้วยกัน 2 ประการ คือ
          (1) รับจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาส ไม่เกิน 3,000 บาท คือ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใดนอกจากข้อยกเว้นจะต้องมีโอกาสในการรับดังกล่าวด้วย ได้แก่โอกาสเทศกาลหรือวันสำคัญโอกาสแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การตอนรับ การแสดงความเสียใจ หรือให้ตามมารยาทที่ถือปฏิบัติกันในสังคม จึงสามารถรับจากบุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่ญาติมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาส ไม่เกิน 3,000 บาท
          (2) รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป คือ การให้ที่ไม่ระบุ หรือเฉพาะเจาะจงให้ผู้รับ เช่น การได้รับส่วนลดจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ การได้รับส่วนลดจากการซื้อรถยนต์ การได้รับรางวัลจากการชิงโชค ฯลฯ ซึ่งในส่วนนี้ถ้ามีมูลค่าเกิน 3,000 บาท ก็สามารถรับไว้ได้                                              

Related