เกี่ยวกับ TACC
เป็นหน่วยงานกลางของประเทศไทยในการประสานความร่วมมือ ทั้งกับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้การปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญา UNCAC เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีเอกภาพ สอดคล้องกับบทบาทของ ป.ป.ช.ในฐานะเป็น National Authority และ focal point ของไทยและหน่วยงานหลักตามรัฐธรรมนูญฯในเรื่องการป้องกันและปราบปราม การทุจริตของประเทศ อีกทั้งเป็นศูนย์กลางประสานงานคดีทุจริตระหว่างประเทศ รวมทั้งการติดตามทรัพย์สินคืนอีกด้วย
เกี่ยวกับ TACC

ความเป็นมาของ TACC

ในฐานะรัฐภาคีและหน่วยงานที่มีข้อตกลงระหว่างกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถดำเนินการตามคำร้องขอและให้ความช่วยเหลือระหว่างกันได้ ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (14) ซึ่งกำหนดให้ ป.ป.ช. “มีอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับด้านการต่างประเทศโดยเป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต…”  

คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานคดีระหว่างประเทศ (Thailand Anti – Corruption coordination Center: TACC) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกกลางในการประสานงานและดำเนินการ (Coordinating Office) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางประสานงานคดีทุจริตระหว่างประเทศ รวมทั้งการติดตามทรัพย์สินคืน 

ปัจจุบัน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 138 ในการดำเนินการด้านการต่างประเทศเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในเรื่องดังต่อไปนี้  (1) เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการเพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต 

(2) ดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในคดีทุจริตในกรณีที่ผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการหรือพิจารณาให้ความช่วยเหลือกับต่างประเทศในคดีทุจริตซึ่งมิใช่คำร้องขอความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา 

 และตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการและหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการในสังกัด สำนักงาน ป.ป.ช. พ.ศ. 2561
  
สำนักกิจการและคดีทุจริตระหว่างประเทศ มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้ 
 
(1) ดำเนินการเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการเพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต  

 (2) ตรวจสอบเบื้องต้น ไต่สวนเบื้องต้นและไต่สวน รวมทั้งเสนอความเห็นเพื่อประกอบการวินิจฉัยหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกรณีมีเรื่องกล่าวหาหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบน และกรณีบุคคลใดกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวกลางเรียกรับสินบน หรือให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ  

(3) ตรวจสอบเบื้องต้น ไต่สวนเบื้องต้นและไต่สวน รวมทั้งเสนอความเห็นเพื่อประกอบการวินิจฉัยหรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกรณีมีเรื่องกล่าวหาหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือฐานความผิดอื่นที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนดหรือที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นคดีทุจริตระหว่างประเทศ

(4) ดำเนินการและประสานงานคดีเพื่อขอความร่วมมือระหว่างประเทศ

(5) ดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศในคดีทุจริตในกรณีที่ผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการหรือพิจารณาให้ความช่วยเหลือกับต่างประเทศในคดีทุจริต ซึ่งมิใช่คำร้องขอความช่วยเหลือตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา

(6) ตอบข้อหารือ และให้ความเห็นทางกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายต่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ และการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศ 

(7) ศึกษา วิเคราะห์ พัฒนาระบบรูปแบบ รวมถึงการดำเนินการกิจการงานการต่างประเทศของสำนักงาน ป.ป.ช.  

(8) ติดต่อ ประสานงานโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งทางวิชาการและกฎหมาย รวมถึงการสร้างเครือข่ายด้านการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตระหว่างประเทศ 

(9) ศึกษา วิเคราะห์ กฎหมายต่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนจัดทำเอกสารทางวิชาการและรายงานประจำปี การจัดแปลกฎหมาย บทความวิชาการ และเอกสารรวมถึงการจัดพิมพ์เผยแพร่งานแปล 

(10) ดำเนินการงานเจรจา การจัดทำข้อตกลงการส่งเสริมความร่วมมือตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ 

(11) ดำเนินการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การอำนวยความสะดวกต้อนรับและจัดงานเลี่ยงรับรองคณะบุคลสำคัญของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการไปเยือนต่างประเทศ 

(12) ประสานและปฏิบัติงานอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือสำนักงาน ป.ป.ช. มอบหมาย ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง