วันพุธที่ 19 มีนาคม 2568 นางสุปรียา บุญสนิท ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตราด เจ้าหน้าที่กลุ่มงานไต่สวนการทุจริต กลุ่มงานสืบสวนคดีทุจริต และกลุ่มงานป้องกันการทุจริต พร้อมสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการนำทรายที่มีสีดำและโคลนปะปน ไปใช้ในการก่อสร้างถนน ของโครงการก่อสร้างถนนสาย ก1, ข และ ค1 ผังเมืองรวมเมืองตราด จังหวัดตราด ตามที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า ได้มีการนำทรายที่มีสีดำและโคลนปะปน ไปใช้ในการก่อสร้างถนน สาย ก1, ข และ ค1 ผังเมืองรวมเมืองตราด จังหวัดตราด โดยมีนายอิสระชนม์ คงช่วย วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวงชนบท ผู้อำนวยการโครงการฯ และคณะ ร่วมให้ข้อมูลและลงพื้นที่โครงการฯ
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างถนนสาย ก1, ข และ ค1 ผังเมืองรวมเมืองตราด จังหวัดตราด ดำเนินการก่อสร้างถนนเป็นระยะทาง 8.132 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 914,800,000.- บาท (เก้าร้อยสิบสี่ล้านแปดแสนบาทถ้วน) เป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ได้แก่ งบประมาณปี 2567 จำนวน 137,250,000.- บาท งบประมาณปี 2568 จำนวน 129,625,000.- บาท และงบประมาณปี 2569 จำนวน 647,925,000.- บาท วันเริ่มต้นสัญญา วันที่ 16 ตุลาคม 2567 และวันสิ้นสุดสัญญา วันที่ 3 เมษายน 2570 ระยะเวลารวม 900 วัน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 9 เปอร์เซ็นต์ โดยกรณีนำทรายที่มีสีดำและโคลนปะปน ไปใช้ในการก่อสร้างฯ เป็นทรายที่นำมาใช้เป็นวัสดุถมคันทางมีลักษณะสีดำ จาก 2 แหล่ง ได้แก่ ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมืองตราด และตำบลประณีต อำเภอเขาสมิง ซึ่งทรายที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุถมคันทางต้องมีค่าดัชนีความเป็นพลาสติกเป็นศูนย์ (Non Plasticity Index) ปราศจากก้อนดินเหนียว (Clay Lump) หน้าดิน (Top Soil) รากไม้ ใบไม้ หรือวัสดุอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารผุพังปนอยู่ อันอาจจะทำให้เกิดการยุบตัวเสียหายในอนาคต มีส่วนละเอียดผ่านตะแกรงขนาด 0.075 มิลลิเมตร (เบอร์ 200) ไม่เกินร้อยละ 20 โดยน้ำหนักตาม มทช.(ท) 501.8 : วิธีการทดสอบหาขนาดเม็ดของวัสดุ และมีค่า ซี.บี.อาร์ จากห้องทดลอง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ที่ร้อยละ 95 ของค่าความแน่นแห้งสูงสุดแบบสูงกว่ามาตรฐาน (Modified Proctor Density) ตาม มทช.(ท) 501.3 : วิธีการทอบเพื่อหาค่า ชี.บี.อาร์ (C.B.R.) หรือไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในแบบก่อสร้าง จากการทดสอบทรายทั้ง 2 แหล่งโดยกรมทางหลวงชนบท พบว่า ผ่านเกณฑ์ มทช. 220-2545 มาตรฐานงานถมคันทาง (Embankment : Construction) จึงได้อนุมัติวัสดุทราย 2 แหล่งดังกล่าวมาใช้เป็นวัสดุถมคันทาง
นอกจากนี้พบว่า พื้นที่โครงการฯ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้แล้ว แต่โครงการฯ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งมีระยะก่อสร้างถนน 1.3 กิโลเมตร และ 150 เมตร อยู่ระหว่างการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เพื่อรายงานผลต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกอบการเสนอขออนุญาตต่อคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตราด จะดำเนินการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป