Contrast
Font
b75af019c9ab78b87508da9bcc89c97c.jpg

TaC Team ป.ป.ช. ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ กำหนดข้อตกลงต้านและลดทุจริตในประเด็นความเสี่ยงโครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ และฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง งบประมาณรวมกว่า 600 ล้านบาท

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 597

27/05/2565

เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน ป.ป.ช. นำโดยนายวิวัฒน์  เจริญฉ่ำ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 นายอภินันท์  เรืองประเภท ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง นำโดย นางแก้วตา ชัยมะโน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและความเสี่ยงต่อการทุจริตในประเด็นการก่อสร้างโครงสร้างระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ (ฝั่งซ้าย) อำเภอชุมตาบง ของสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 กรมชลประทาน งบประมาณรวมทั้งสิ้น 594 ล้านบาท และการปรับปรุงฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (หัวงานที่ 1) อำเภอเก้าเลี้ยว ของโครงการชลประทานนครสวรรค์ สำนักงานชลประทานที่ 3 งบประมาณรวม 9.7 ล้านบาท

---

ประเด็นความเสี่ยงทั้งสองโครงการดังกล่าวเกิดจากการปักหมุดความเสี่ยง โดยเครือข่ายชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดนครสวรรค์ ดังนี้

1) การก่อสร้างระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ (ฝั่งซ้าย) อำเภอชุมตาบง มีความเสี่ยงในประเด็นความพร้อมในการส่งมอบที่ดินให้กับผู้รับจ้าง เนื่องจากปัญหาการเวนคืนพื้นที่ ส่งผลให้การดำเนินโครงการแล้วเสร็จไม่ทันตามกำหนด มีความเสี่ยงด้านการบริหารสัญญา การควบคุมงานให้เป็นไปตามสัญญา และมีการอนุมัติยกเว้นค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดโครงการให้ชัดเจน รวมทั้งมีความชำรุดเสียหายของพื้นที่โครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว

2) การปรับปรุงฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (หัวงานที่ 1) อำเภอเก้าเลี้ยว มีความเสี่ยงในประเด็น ความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณ เนื่องจากฝายมีการปรับปรุงซ่อมแซมบ่อยครั้งแต่ยังไม่สามารถผลักดันน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้ตามวัตถุประสงค์

--

จากการลงพื้นที่ของคณะ TaC Team พบว่า การก่อสร้างระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ (ฝั่งซ้าย) อำเภอชุมตาบง มีที่ดินอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างที่ต้องเวนคืน และส่งมอบให้กับผู้รับจ้าง รวมจำนวน 2,183 แปลง เมื่อเริ่มสัญญาในวันที่ 18 พ.ค. 2560 มีการส่งมอบที่ดินเพื่อดำเนินการได้เพียงร้อยละ 52 ของพื้นที่โครงการ เมื่อครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 29 ส.ค. 2563 ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดให้กับผู้รับจ้างได้ ซึ่งสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 มีการกำหนดแผนส่งมอบพื้นที่ไว้ จำนวน 10 ครั้ง ครั้งที่ 8 ส่งมอบในเดือนพฤษภาคม 2565 รวมส่งมอบที่ดินเพื่อดำเนินการได้เพียงร้อยละ 90 คงเหลือพื้นที่อีก 183 แปลง ทำให้ผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าดำเนินการในพื้นที่ให้แล้วเสร็จได้

ด้านการบริหารสัญญา สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 มีการอนุมัติงดเว้นค่าปรับให้แก่ผู้รับจ้างตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส-COVID 19 โดยยังมิได้มีการขยายระยะเวลาในสัญญาจ้าง และกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้าง และการส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้ชัดเจน

ด้านคุณภาพของงานที่ส่งมอบงานปรากฎความชำรุดเสียหายของพื้นที่โครงการ อาทิ อาคารประกอบ แผงดาดคอนกรีต รวมถึงแบบก่อสร้างสะพานที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน และการก่อสร้างคลองส่งน้ำตัดผ่านถนนทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ ซึ่งภาคประชาชนได้แจ้งให้กรมชลประทานเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการ

ในส่วนของการปรับปรุงฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (หัวงานที่ 1) อำเภอเก้าเลี้ยว พบว่าโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ไม่สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ที่จะให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร เนื่องจากฝายดังกล่าวไม่สามารถผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้ตามความต้องการของประชาชน ซึ่งกรมชลประทานแจ้งว่ามีความจำเป็นต้องจำกัด การใช้น้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ

--

ทั้งนี้ นางพรเพชร เขมวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ได้เป็นประธานการประชุมกำหนดข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตการดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ (ฝั่งซ้าย) อำเภอชุมตาบง และการปรับปรุงฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง (หัวงานที่ 1) อำเภอเก้าเลี้ยว ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นางกุลิสราพ์ บุญทับ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (ภาค 11) นายนนทพัฒน์ สิงห์ประยูร ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ท. ภาค ๖ นายสัญญา สุริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 และนายศุภชัย มโนการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครสวรรค์ โดยมีข้อตกลงเพื่อดำเนินการ ดังนี้

1) สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 กำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 โดยจะดำเนินการเวนคืนที่ดินให้ครบทั้งหมดของพื้นที่โครงการ และกำหนดส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างอีก 2 ครั้ง คือ เดือนธันวาคม 2565 (143 แปลง) เดือนมิถุนายน 2566 (40 แปลง)

2) ให้สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 3 นำกำหนดการเวนคืนและการส่งมอบที่ดินตามข้อ 1 มาจัดทำแผนการบริหารสัญญาให้ชัดเจน หากจะมีการพิจารณาขยายสัญญาให้แก่ผู้รับจ้าง (ได้เฉพาะกรณีเหตุผลจากปัญหาการเวนคืนที่ดินทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้โดยไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง) ให้ปรึกษาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินก่อนดำเนินการเพื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและความเหมาะสม

3) กรณีงานก่อสร้างของผู้รับจ้างไม่มีคุณภาพ (มีความผิดพลาด ต้องแก้ไขงานหลายครั้ง) ให้ผู้ควบคุมงานกำกับดูแลผู้รับจ้างอย่างเข้มงวด ไม่นำปัญหาของผู้รับจ้าง อาทิ การมีคนงานหลายชุด หรือการเปลี่ยนคนงานบ่อย มาเป็นเหตุผลในการผ่อนผัน รวมทั้งให้ผู้ควบคุมงานรายงานปัญหาต่อคณะกรรมการตรวจการจ้างโดยเร็ว สำหรับพื้นที่โครงการที่มีความชำรุดเสียหายให้นำข้อมูลจากภาคประชาชนที่แจ้งผ่านชมรม STRONG ไปดำเนินการตรวจสอบในทุกจุด และเมื่อยืนยันความเสียหายได้แล้วให้แจ้งผู้รับจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

4) ผู้ตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 11 จะนำประเด็นความพร้อมของพื้นที่ดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องมีการเวนคืนที่ดินของกรมชลประทาน รายงานต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทางหารือร่วมกับผู้บริหารกรมชลประทาน ในการนำประเด็นการศึกษาความพร้อม (feasibility study) มาประกอบการพิจารณาก่อนการจัดสรรงบประมาณ โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะเสนอให้กรมชลประทานพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการขนาดใหญ่เป็นระยะ (phase) ตามความพร้อมของการส่งมอบพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการบริหารสัญญากับโครงการขนาดใหญ่

5) กรณีฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิงซึ่งมีวัตถุประสงค์ของโครงการเปลี่ยนไปจากการสนับสนุนน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ เป็นการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ ให้โครงการชลประทานนครสวรรค์ผู้รับผิดชอบฝายดังกล่าว เพิ่มการสื่อสารกับเกษตรกรและภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบในพื้นที่ให้เข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นของโครงการ รวมทั้งระบุช่วงเวลาที่เกษตรกรสามารถใช้น้ำจากแม่น้ำปิงได้ (ฤดูน้ำ) และไม่ได้ (ฤดูแล้ง) ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งและความเข้าใจผิด ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่เกษตรกรสามารถใช้น้ำได้ โครงการต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้กระแสน้ำไหลเข้าคลองเพื่อสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมได้ตามธรรมชาติโดยเกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อการก่อสร้างฝายดังกล่าวตั้งแต่แรก

6) สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักงาน ป.ป.ช ภาค 6 กำหนดให้จังหวัดในพื้นที่ภาค 6 ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดตาก จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุทัยธานี ตรวจสอบและเฝ้าระวังการดำเนินโครงการของกรมชลประทานทุกโครงการในพื้นที่ ทั้ง 9 จังหวัด ในส่วนของจังหวัดนครสวรรค์ สำนักงาน ป.ป.ช ประจำจังหวัดจะร่วมกับชมรม STRONG ติดตามการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานในสังกัดกรมชลประทานที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวข้างต้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง จะนำประเด็นที่พบในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ไปขยายผลสู่การจัดทำมาตรการป้องกันการทุจริตและการกำหนดประเด็นเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการทุจริตในระดับประเทศต่อไป ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะรายงานผลการจัดทำข้อตกลงร่วมภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ฯ ในพื้นที่ภาค 6 (จังหวัดนครสวรรค์) เสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อธิบดีกรมชลประทาน ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจะติดตามความคืบหน้าของการนำข้อตกลงไปดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การถอนหมุดประเด็นความเสี่ยงการทุจริตให้แล้วเสร็จในที่สุด

Related