จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 4556
สำนักงาน ป.ป.ช. แถลงประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
วันนี้ (1 สิงหาคม 2565) สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ได้มีการแถลงข่าวประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้แนวคิด “ITA DAY 2022: Decade of ITA Journey
การแถลงข่าวประกาศผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเกียรติจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ Ms.Lovita Ramguttee รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) เข้ามาร่วมกันจุดประกายแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างและขับเคลื่อนคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สำหรับเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินได้นำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานต่อไป
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับการกำกับและควบคุมคุณภาพการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้ถูกต้องและเป็นไปตามหลักวิชาการ และได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้แถลงผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
สำหรับในปี 2565 มีหน่วยงานเข้าร่วมการประเมินฯ ทั้งสิ้น 8,303 หน่วยงาน และมีบุคลากรภาครัฐ ตลอดจนประชาชนที่เคยติดต่อหรือรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ เข้ามามีส่วนร่วมกับการประเมินฯ รวมแล้วทั้งสิ้น 1,300,132 คน แบ่งเป็นประชาชนผู้รับบริการกับหน่วยงานภาครัฐจำนวน 828,413 คนและบุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานภาครัฐจำนวน 417,719 คน
ผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
ผลการประเมิน ITA 2565 ในภาพรวมระดับประเทศ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 87.57 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 6.32 คะแนน และมีหน่วยงานที่บรรลุค่าเป้าหมายตัวชี้วัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งกำหนดค่าเป้าหมายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 5,855 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 70.52 ของหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีหน่วยงานภาครัฐที่บรรลุเป้าหมายไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ก็เห็นได้ชัดว่ามีหน่วยงานจำนวนไม่น้อยที่พยายามพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของหน่วยงานให้ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน จนมีหน่วยงานที่มีคะแนนบรรลุค่าเป้าหมาย “เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 1,709 หน่วยงาน”
สำหรับผลการประเมินฯ รายกลุ่มหน่วยงานพบว่า กลุ่มหน่วยงานที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 93.29 คะแนน ส่วนกลุ่มหน่วยงานที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดคือ กลุ่มองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 87.04 คะแนน
เมื่อพิจารณาผลการประเมินฯ รายพื้นที่จังหวัด พบว่า มีจังหวัด 27 จังหวัดที่มีหน่วยงานภาครัฐภายในพื้นที่จังหวัดได้ผลการประเมินบรรลุค่าเป้าหมายตัวชี้วัดฯ และมีจังหวัดที่ทุกหน่วยงานภายในจังหวัด มีค่าคะแนนบรรลุค่าเป้าหมายได้ครบถ้วนทุกแห่ง 100% เต็ม ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดภูเก็ต
เมื่อเปรียบเทียบผลการประเมิน ITA ของปี 2564 และ ปี 2565 พบว่า มีจำนวนจังหวัดที่มีสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐบรรลุค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ เพิ่มขึ้นจาก 15 จังหวัด รวมเป็น 27 จังหวัดในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนผู้บริหารและบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ให้บรรลุค่าเป้าหมายอย่างได้อย่างเป็นรูปธรรม และแม้ว่าจะมีอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่ก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าในการประเมินปีต่อ ๆ ไป จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยสรุปผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของช่วงระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2565) ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการบริหารจัดการข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มาสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างอิสระและสามารถเข้ามาติดต่อรับบริการได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่บรรลุค่าเป้าหมายตัวชี้วัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบได้ก็ตาม แต่เชื่อว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนก็พร้อมที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และพร้อมที่จะผลักดันให้ภาครัฐไทยมีความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
โดยสรุปผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของช่วงระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561 – 2565) ของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการบริหารจัดการข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้มาสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐได้อย่างอิสระและสามารถเข้ามาติดต่อรับบริการได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่บรรลุค่าเป้าหมายตัวชี้วัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบได้ก็ตาม แต่เชื่อว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนก็พร้อมที่จะพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และพร้อมที่จะผลักดันให้ภาครัฐไทยมีความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
สามารถดาวน์โหลดเอกสารและเข้าดูรายละเอียดผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศได้ที่ https://www.nacc.go.th/files/article/attachments/270247029ca78912fa58279be1ab7a3cc4bbe26.pdf