Contrast
Font
9c5074cd4897731e59d5fa9068507bbe.jpg

ป.ป.ช.เดินหน้าเชิงรุก ขับเคลื่อนกระบวนการประเมิน ITA หวังสร้างวัฒนธรรมปลอดทุจริตทั้งประเทศ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 4012

17/04/2566

ป.ป.ช.เดินหน้าเชิงรุก ขับเคลื่อนกระบวนการประเมิน ITA

หวังสร้างวัฒนธรรมปลอดทุจริตทั้งประเทศ

         สำนักงาน ป.ป.ช.ส่งไม้ต่อ ป.ป.ช.ประจำจังหวัด เดินหน้าประเมิน ITA ขับเคลื่อนเป็นแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด สร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางประเมิน ITA พร้อมบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ เพื่อเป็นกลไกกระตุ้นการมีธรรมาภิบาล และความโปร่งใส ในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ

 

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ โดยเป็นการประเมินที่ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ที่มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้แนวทางและเครื่องมือการประเมินตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) กำหนด โดยในปี 2565 ที่ผ่านมามีหน่วยงานเข้าร่วมการประเมินฯ ทั้งสิ้น 8,303 หน่วยงาน และมีบุคลากรภาครัฐ ตลอดจนประชาชนที่เคยติดต่อหรือรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ เข้ามามีส่วนร่วมกับการประเมินฯ รวมแล้วทั้งสิ้น 1,300,132 คน แบ่งเป็นประชาชนผู้รับบริการกับหน่วยงานภาครัฐจำนวน 828,413 คนและบุคลากรภาครัฐที่ปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานภาครัฐจำนวน 417,719 คน โดยผลการประเมิน ITA ในภาพรวมระดับประเทศ พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 87.57 คะแนน

 

สำหรับปี 2566 สำนักงาน ป.ป.ช.ได้มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ป.ป.ท. และ สำนักงาน ก.พ เพื่อปรับปรุงแนวทางการประเมินให้มีความสะดวกกับภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น  โดยยังคงใช้กรอบแนวทางหลักในการประเมินเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา และได้พัฒนาให้การประเมิน ITA มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยมีการรับฟังความคิดเห็นและรวบรวมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมทั้งเชื่อมต่อการดำเนินงานไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เพื่อประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ตัวอย่างเช่น จังหวัดสกลนครที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการให้หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่มีความโปร่งใส โดยได้มีการลงทะเบียนเข้าสู่ระบบประเมิน ITA ครบถ้วน 100% หรือในจังหวัดนราธิวาสที่ได้วาง Roadmap ITA 2023 วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของการประเมินผลในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับค่าคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานผู้ดำเนินการเชื่อว่า การประเมิน ITA นี้เปรียบเหมือนกับการที่หน่วยงานภาครัฐเข้ารับการตรวจสุขภาพกับแพทย์เฉพาะทางด้านความโปร่งใส ซึ่งเมื่อตรวจพบว่ามีโรคภัยในจุดใด หรือมีช่องโหว่ที่จะนำไปสู่การทุจริตตรงไหน ก็สามารถรักษาเยียวยาหน่วยงานนั้น ๆ ได้ทันท่วงที และหากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือและพร้อมปฏิบัติตามแนวทางการประเมิน ITA อย่างจริงจัง จะนำมาสู่การพัฒนาระบบการบริหารงานภาครัฐของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและลดโอกาสในการทุจริต เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์นำไปสู่การพัฒนาโครงการที่เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

Related