จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 4265
ป.ป.ช.เตือนเจ้าหน้าที่รัฐเบียดบังเงินหลวงต้องถูกลงโทษ จำคุก!
สำนักงาน ป.ป.ช.ยกกรณีกรณีศึกษาเพื่อเป็นอุทาหรณ์กรณีเบียดบังเงินหลวง ย้ำ งบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน ต้องใช้เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน พบกระทำผิด รับโทษอาญา จำคุก
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “เงินงบประมาณแผ่นดิน” ต่างก็ต้องตระหนักว่า เป็นเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน ซึ่งมีการจัดสรรเพื่อประโยชน์ของชาติและของประชาชนเป็นสำคัญ ใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยปกติการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินมีระเบียบกฎหมายกำกับควบคุมอย่างรัดกุม เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานให้เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง แต่นอกเหนือจาก จากระเบียบกฎหมายแล้ว ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งเป็นผู้ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินจะต้องมีสำนึกที่ดีมุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก แต่ปัจจุบันยังพบว่าการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ มีปัญหาที่เจ้าหน้าที่ “บางคน” ใช้โอกาสจากตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้องอย่างไม่ถูกต้อง หรือที่เรียกว่า “เบียดบังเงินหลวง” ทำให้งบประมาณแผ่นดินไม่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากจะเกิดผลเสียกับประเทศอย่างมหาศาลแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดก็ต้องรับโทษอาญาอีกด้วย
ดังกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงจากคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด แล้วให้ส่งอัยการสูงสุดฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อเป็นอุทาหรณ์ กรณีเบียดบังเงินอาหารกลางวันของโรงเรียนไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ในขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งคำสั่งคำให้ร่วมเป็นคณะกรรมการเบิกถอนเงินเพื่อนำมาจ่ายค่าอาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งการจัดหาอาหารกลางวันดังกล่าวต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ แต่จำเลยกลับอาศัยตำแหน่งหน้าที่เบียดบังเงินโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนไปเป็นของตนโดยทุจริต รวมจำนวน 904,060.18 บาท ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้พิจารณาสำนวนและพยานหลักฐานแล้วจึงพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นการกระทำที่ขาดคุณธรรม จริยธรรมและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่ข้าราชการทั่วไป จึงไม่รอการลงโทษ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ลงโทษจำคุก 50 ปี และให้คืนเงินที่ได้เบียดบังไปให้แก่โรงเรียน
จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐจำต้องได้รับโทษสูงสุด และยังมีกรณีศึกษาอุทาหรณ์เจ้าหน้าที่รัฐเบียดบังเงินหลวงให้ผู้ที่สนใจติดตามอ่านข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กันได้ที่วารสารสำนักงาน ป.ป.ช. “สุจริต” ปีที่ 23 ฉบับที่ 83 ประจำเดือนตุลาคม 2565 - มีนาคม 2566 คลิ้กอ่านได้แล้ววันนี้ https://www.nacc.go.th/ebookdetail/2023033014205954?