จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 6787
ป.ป.ช. ให้ข้อมูลวิธีการรับเรื่องข้อกล่าวหาการทุจริต เผยขั้นตอนการรับเรื่องเข้าระบบเพื่อทำการพิจารณา เน้นย้ำ ข้อมูลผู้ร้องจะถูกปิดเป็นความลับ พร้อมให้ความคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้ให้ข้อมูลการทุจริต ขอให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการทำงาน และร่วมเป็นหูเป็นตา
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าการแจ้งข้อกล่าวหา หรือร้องเรียนกรณีพบเบาะแสการทุจริต ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยชี้เป้าให้สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ แต่ในหลายกรณีพบว่า ผู้ร้องเรียนมีข้อกังวลในด้านความปลอดภัย หรือกลัวข้อมูลการแจ้งรั่วไหลเกิดความไม่ปลอดภัย ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ยืนยันเพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกข้อมูลการร้องเรียนหรือแจ้งข้อกล่าวหา ข้อมูลของผู้ร้องเรียนจะถูกเก็บความลับ
โดยกระบวนการรับเรื่องเพื่อทำการตรวจสอบตามกระบวนการของสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว (1) จะบันทึกข้อมูลในระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ว่า “หนังสือร้องเรียน” พร้อมกับจดแจ้งวัน เดือน ปี และเวลาที่รับเรื่อง, (2) จากนั้นทำการคัดแยกเรื่องกล่าวหาว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด แล้วจึงส่งเรื่องกล่าวหาไปยังหน่วยงานภายในที่มีเขตอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการตรวจรับคำกล่าวหาต่อไป, (3) ดำเนินการลงทะเบียนคำกล่าวหาและบันทึกข้อมูลลงในสารบบตรวจรับคำกล่าวหา, (4) จดแจ้งชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหาไว้ในทะเบียนสารบบการรักษาความลับ พร้อมทั้งลบชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหาออกจากหนังสือหรือบันทึกปากคำ, (5) ตรวจสอบเรื่องกล่าวหาว่ามีข้อมูลหรือรายละเอียดครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งหากเรื่องกล่าวหานั้น มีชื่อและที่อยู่ของผู้กล่าวหา แต่ไม่ปรากฏชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกร้อง และไม่อาจพิจารณาได้ว่าผู้ถูกร้องเป็นใครหรือดำรงตำแหน่งระดับใด สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีหนังสือแจ้งไปยังผู้กล่าวหาเพื่อให้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลหรือระดับตำแหน่งของผู้ถูกร้องตามคำกล่าวหาเพิ่มเติม โดยหากสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับทราบรายละเอียดดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด จะถือว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับคำกล่าวหาแล้ว แต่ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้กล่าวหายังไม่ชี้แจงข้อมูลหรือให้รายละเอียดให้สำนักงาน ป.ป.ช. ทราบ ผู้อำนวยการหรือผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอาจมีคำสั่งไม่รับเรื่องกล่าวหาดังกล่าวไว้พิจารณา โดยจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้กล่าวหาทราบต่อไป
แต่หากเรื่องกล่าวหานั้น เป็นบัตรสนเท่ห์ การแจ้งเบาะแส และการร้องเรียนทางเว็บไซต์ ซึ่งกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลมีคำสั่งให้รับคำกล่าวหาไว้พิจารณา หรือมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการออกเลขเรื่องกล่าวหาเพื่อดำเนินการตรวจสอบ จากนั้นเมื่อข้อมูลรายละเอียดครบถ้วนแล้วจะเป็นกระบวนการตรวจสอบอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาว่าอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่เพื่อดำเนินการพิจารณาหรือเป็นการส่งมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ซึ่งกระบวนการในการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการรับเรื่องกล่าวหานี้มีความรัดกุม และมั่นใจได้ว่าข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน จะถูกปกปิดเป็นความลับ หากผู้ร้องเรียนมีความกังวลว่าจะได้รับภัยอันตรายจากการที่ได้ให้ข้อมูลกับสำนักงาน ป.ป.ช. สามารถร้องขอการคุ้มครองช่วยเหลือพยานได้ โดยผู้ที่พบเห็นการทุจริตสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั่วประเทศ หรือผ่านเว็บไซต์ www.nacc.go.th