Contrast
Font
ae3df6d8578a622042b497c2abd5b5d5.jpg

ป.ป.ช.เตือนภาคเอกชน “ให้สินบน” ผิดทั้งผู้ให้ทั้งผู้รับ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 99

21/04/2566

สำนักงาน ป.ป.ช.เน้นย้ำ “ปัญหาสินบน” เป็นปัญหาการทุจริตที่พบมากในประเทศไทย หนึ่งในตัวการสำคัญฉุดค่า CPI ของประเทศ พร้อมเตือนภาคเอกชนพึงระวัง “หยุดให้สินบน หยุดถักสายป่านคอร์รัปชัน” เพราะมีความผิดร้ายแรงทั้งผู้ให้และผู้รับ  

         นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สินบนเป็นการทุจริตที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างยิ่ง ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในการทุจริตระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ไม่มีการแข่งขันอย่างโปร่งใส เปิดช่องโหว่ให้มีการรับสินบนเพื่อให้ได้งาน ซึ่งสินบน อาจจะเป็นทรัพย์สินหรือสิ่งของ ที่มักตอบแทนให้กันเพื่อจูงใจผู้รับให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดกฎระเบียบเพื่อให้เอกชนได้รับประโยชน์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะ การให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ ซึ่งการกระทำผิดฐานที่กฎหมายพิจารณาว่าเป็นการให้สินบนนั้น ต้องเข้าข่ายดังนี้ คือ 1. เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในตำแหน่ง ๆ นั้น และ 2. ต้องเป็นการจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือประวิงเวลาการกระทำล่าช้าอันมิชอบด้วยหน้าที่ 3.มูลเหตุจูงใจ ได้แก่ เพื่อจูงใจให้ทำ ไม่ให้ทำ หรือประวิงเวลาการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดก็ล้วนเป็น “การให้สินบน”

ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการบริษัทก่อสร้าง มอบเงินให้นายกเทศมนตรีเทศบาลเมือง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตให้ทำการก่อสร้างอาคารในเขตเทศบาล เพื่อจูงใจให้นายกเทศมนตรีอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารได้โดยเร็ว ทั้ง ๆ ที่หลักฐานการขออนุญาตก่อสร้างไม่เรียบร้อยพอที่จะอนุญาตได้ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งนอกจากนายกเทศมนตรีที่เป็นผู้รับสินบนจะมีความผิดแล้ว ผู้จัดการบริษัทก่อสร้างที่เป็นผู้จ่ายเงินสินบนก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 176 ซึ่งกำหนดบทลงโทษไว้ คือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในบางกรณีที่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายให้สินบน แต่ผู้ให้ไม่เข้าข่ายมีความผิด เช่น ให้ค่าน้ำมันตำรวจเป็นรายเดือนเพื่อให้เข้ามาตรวจภายในหมู่บ้าน กรณีดังกล่าวผู้ให้ไม่ผิด แต่พนักงานผู้รับมีความผิด หรือให้เงินตำรวจเพื่อมาจัดการจราจรหน้าร้านอาหาร ผู้ให้ไม่ผิด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้รับเงินมีความผิด เป็นต้น

ดังนั้น จึงเป็นข้อควรระวังสำหรับภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็ก รวมถึงพ่อค้า แม่ค้า ธุรกิจรายย่อย หากในการดำเนินธุรกิจของตนต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องไม่กระทำการอันเป็นความผิดฐานให้สินบน เนื่องจากจะเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 176 ของกฎหมาย ป.ป.ช. ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่. . .” ซึ่งเป็นกรอบของกฎหมายเอาผิดกับ “ผู้ให้” สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการเตือนใจให้รู้ว่า การให้สินบน นอกจากจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติบ้านเมืองแล้ว ตัวผู้ให้สินบนก็มีความผิดและจะต้องรับโทษด้วยเช่นกัน    

Related