จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 326
สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งงานเชิงรุก สร้างความเข้าใจกรอบการประเมิน ITAGC 2023” ในเชิงพื้นที่ ปักหมุด หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร อาทิ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมสมรรถนะของภาคเอกชนในการเป็นคู่ค้าคู่สัญญาของหน่วยงานภาครัฐที่ดี มีแนวทางการต่อต้านการรับสินบน ด้าน กทม.ขานรับ เร่งติดตามตรวจสอบเรื่องร้องเรียนและการแจ้งปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาสู่ระบบ แทรฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) พร้อมกำหนดเกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียนทุจริต และการส่งต่อเรื่องร้องเรียนทุจริต โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ และการป้องกันการทุจริตเชิงรุกด้วย
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการประเมินภาคเอกชน ที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment of Government Contractors) ในเชิงพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายได้แก่ ผู้แทนจากหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ที่รับผิดชอบภารกิจที่มูลค่างบประมาณจัดจ้างสูง จำนวน 3 ส่วนงาน ได้แก่ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งประเมินกลุ่มภาคเอกชนที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญาของกรุงเทพมหานคร ในโครงการสำคัญและมีวงเงินงบประมาณสูง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 31 โครงการ โดยมีคู่สัญญาเอกชน 27 ราย รวมมูลค่าในการจัดจ้างทั้งสิ้น 43,466,643,216 บาท โดยการประเมินที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ถือเป็นเครื่องมือที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสมรรถนะของภาคเอกชนในการเป็นคู่ค้าคู่สัญญาของหน่วยงานภาครัฐที่ดี มีแนวทางการต่อต้านการรับสินบนที่เหมาะสม ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ การต่อต้านการให้สินบน การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบการเป็นคู่ค้าคู่สัญญาภาครัฐ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม การให้ทรัพย์สินและประโยชน์ต่างตอบแทน ระหว่างหน่วยงานภาคเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ และการส่งเสริมวัฒนธรรมการไม่ให้ไม่รับ โดยการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลการประเมิน สำรวจจากกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ (1) พนักงาน เจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นคู่สัญญา (2) ภาครัฐที่เป็นคู่ค้าคู่สัญญา (3) ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยตรวจสอบ รวมไปจนถึง (4) การเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานภาคเอกชนต่อสาธารณะ
ซึ่งในขณะนี้ได้มีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ของสำนักงานเขต สังกัดกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และได้เก็บข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) มีสำนักงานเขตที่ดำเนินการครบแล้ว จำนวน 22 สำนักงานเขต (คิดเป็นร้อยละ 44) และมีการเก็บข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) มีสำนักงานเขตที่ดำเนินการครบแล้ว จำนวน 12 สำนักงานเขต และอยู่ระหว่างการทำการประเมินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนของกรุงเทพมหานครเอง ก็ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ขานรับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง โดยได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ การป้องกันการทุจริตเชิงรุกด้วย การลงพื้นที่หรือมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต เพื่อลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดการทุจริตในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) มีรองปลัดกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) เป็นผู้อำนวยการศูนย์ มีหน้าที่ผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่มีการร้องเรียนตามช่องทางต่าง ๆ เพื่อสอบสวนขยายผล ตรวจสอบเชิงรุก เรื่องที่เป็นความเสี่ยงและอาจเอื้อให้มีการทุจริต เช่น การจัดซื้อจัดจ้างในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร หาบเร่แผงลอย การอนุญาตก่อสร้างอาคาร และการขออนุญาตของผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยแจ้งผู้อำนวยการเขตทุกเขตให้กำชับหน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ทราบถึงการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของ ศตท.กทม. และเตรียมความพร้อมของข้อมูล/เอกสาร สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะผู้บริหาร หากพบเห็นพฤติกรรมการทุจริตหรือการเรียกรับสินบนให้แจ้งเบาะแสทันที เชื่อว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ทั้งยังแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช.ที่จะผลักดันให้ภาครัฐไทยมีความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล