Contrast
Font
abe30b20ec1373cd51d84a76c460edae.jpg

ป.ป.ช. ชี้ช่อง หากพบทุจริตร้องเรียนได้ 6 ช่องทาง ตอกย้ำเจตนารมย์ “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง”

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 282

25/05/2566

          สำนักงาน ป.ป.ช. ชี้ช่องทางการร้องเรียนแจ้งเบาะแสทุจริต ผ่าน 6 ช่องทาง หากพบการกระทำทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ตอกย้ำเจตนารมย์ต่อต้านการทุจริต “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” พร้อมเผยสถิติ 6 เดือนที่ผ่านมา รับเรื่องการตรวจรับคำกล่าวหามาแล้วกว่า 4,000 เรื่อง

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า จากสถิติคำกล่าวหาที่ร้องเรียนมายัง สำนักงาน ป.ป.ช. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รอบ 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 29 มีนาคม 2566) จำนวน 4,099 เรื่อง เป็นเรื่องที่ดำเนินการตรวจรับคำกล่าวหาแล้วเสร็จ จำนวน 3,486 เรื่อง (ร้อยละ 85.05), อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 613 เรื่อง (ร้อยละ 14.95)

          โดยจำแนกตามประเภทคำกล่าวหาพบว่า ร้อยละ 50.30 เป็นคำกล่าวหาประเภทหนังสือร้องเรียน จำนวน 2,062 เรื่อง รองลงมาเป็นคำกล่าวหาประเภทหนังสือราชการ จำนวน 931 เรื่อง (ร้อยละ 22.7) และบัตรสนเท่ห์ จำนวน 832 เรื่อง (ร้อยละ 20.30) ส่วนคำกล่าวหาอื่น ๆ ที่มีจำนวนรองลงมา คือ ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์, การแจ้งเบาะแสผ่านสื่อสังคมออนไลน์, การร้องเรียนด้วยตนเองที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั่วประเทศ, เรื่องที่มีเหตุอันควรสงสัยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หยิบยกขึ้นมาพิจารณา และคำกล่าวหาที่ไม่ปรากฎชื่อและตำแหน่งของผู้ร้อง

          ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังขอความร่วมมือภาคประชาชนในการร่วมเป็นพลังในการต่อต้านการทุจริต “ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย รวมไทยต้านโกง” ซึ่งถือเป็นความมุ่งมั่นที่ต้องการให้ประเทศไทยปราศจากการคอร์รัปชันให้ได้ในที่สุด แต่การแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจะค่อย ๆ ลดลงจนสุดท้ายหมดสิ้นไปได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนที่สามารถช่วยเป็นหูเป็นตา คอยเฝ้าระวังการทุจริตในภาครัฐได้ โดยหากพบเห็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการทุจริต ขอให้แจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ผ่าน 6 ช่องทาง ได้แก่
          1. เป็นหนังสือร้องเรียน ส่งถึง "เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช." สำนักงาน ป.ป.ช. เลขที่ 361 ถ.นนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี 11000 หรือ ส่งที่ หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนภูมิภาค
          2. ร้องเรียนด้วยตนเอง ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนภูมิภาค โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกคำกล่าวหาไว้เป็นพยานหลักฐาน
          3. แจ้งเบาะแส/ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ช. www.nacc.go.th โดยเลือกคลิกที่หัวข้อ "ศูนย์ร้องเรียน" จากนั้นไปที่หัวข้อ "ร้องเรียน Online"

          4. ร้องเรียนหรือขอคำแนะนำทางโทรศัพท์ ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1205 หรือโทรติดต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนภูมิภาค
          5. ร้องเรียนผ่านเครือข่ายเฝ้าระวัง www.nacc.go.th/we

          และช่องทางที่ 6. กล่องรับเรื่องร้องเรียน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้เน้นย้ำว่า ประชาชนทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ โดยร่วมกันจับตา สอดส่อง ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดแนวร่วมต้านทุจริตคอร์รัปชันในภาคประชาชนอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยสำนักงาน ป.ป.ช. จะตรวจสอบเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตต่าง ๆ และดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป รักษาผลประโยชน์ของประเทศไม่ให้ตกไปเป็นของบุคคลใดโดยมิชอบ 

Related