Contrast
Font
03eb299f52aaf71d08982c7962d925ff.jpg

ป.ป.ช.ภาค 6 เผยคดีชี้มูล เจ้าหน้าที่รัฐหาประโยชน์เบียดเบียนประชาชน เพิกเฉยต่อหน้าที่ เตือน ผิดทั้งวินัยร้ายแรง ทั้งอาญา

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 607

07/07/2566

สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 เผยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิซอบ เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลที่ซื้อขาย ใช้ช่องโหว่ของระเบียบราชการกระทำการทุจริต พร้อมเตือนเจ้าหน้าที่รัฐอย่าเอาเป็นแบบอย่างเพราะจะมีความผิดทั้งวินัยร้ายแรง และอาญา เสื่อมเสียเกียรติ และหน้าที่การงาน

นายวิวัฒน์ เจริญฉ่ำ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดในเรื่องที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 ดำเนินการไต่สวน จำนวน 1 เรื่อง กรณีกล่าวหา นายฐณะวัฒน์ ธนพรดิษนันทน์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิซอบ พบพฤติการณ์ในการกระทำความผิด ดังนี้

ปีงบประมาณ 2552 ผู้ถูกกล่าวหา ร่วมกับผู้นำท้องที่กระทำการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลที่ซื้อขายที่ดินที่ได้รับจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยให้เกษตรกรที่มีสิทธิในที่ดินเดิมซึ่งเป็นผู้ขายยื่นคำขอสละสิทธิในที่ดินและให้ผู้ซื้อยื่นคำขอใช้ประโยชน์ในที่ดินต่อจากผู้ขายแปลงเดิม โดยอาศัยช่องว่างของระเบียบและนโยบายการบริหารราชการ ออกประกาศให้เกษตรกรยื่นคำขอเข้าทำประโยซน์ในที่ดินแปลงว่างที่เกษตรกรมีสิทธิในที่ดินเดิมซึ่งเป็นผู้ขายยื่นคำขอสละสิทธิ แต่ยังไม่ครบระยะเวลาที่ประกาศให้ยื่นคำขอ ผู้ถูกกล่าวหากลับนำรายชื่อเกษตรกผู้ซื้อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกของคณะอนุกรรมการฯ ระดับอำเภอ เนื่องจากได้มีการรับคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงว่างที่มีการซื้อขายไว้และได้รับเงินจากผู้ซื้อที่ได้ยื่นคำขอรายใหม่เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการดำเนินการไร่ละ 800 - 1000 บาท ไว้แล้ว โดยเกษตรกรรายอื่นที่ไม่ได้จ่ายเงิน ไม่ทราบข้อมูล จึงไม่มีผู้ใดยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแข่งกับผู้ซื้อ

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้ระบุเอาไว้ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต ส่วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2511 มาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (3)ปัจจุบันอัยการสูงสุดมีคำสั่งรับดำเนินคดีอาญาฟ้องผู้ถูกกล่าวหาตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

          อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกกล่าวยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีการพิจารณาคดีจนถึงที่สุด

Related