Contrast
Font
f161dbb606c879351e9b6fafac97533c.jpg

ป.ป.ช.เตือน “สัมมนาแฝงเที่ยว” ใช้งบ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ เสี่ยง สตง.เรียกเงินคืน และผิดวินัยร้ายแรง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 7414

07/06/2566

        ป.ป.ช. เน้นย้ำ หน่วยงานภาครัฐ จัดทำโครงการต้องคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม เม็ดเงินงบประมาณแผ่นดินควรนำไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติบ้านเมือง พร้อมเตือน หยุด สัมมนาแฝงเที่ยว นำงบหลวง กิน ดื่ม เที่ยว เสี่ยง ผิดวินัยร้ายแรง  

        นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า จากกรณีที่เป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้ง ว่ามีหน่วยงานภาครัฐจัดโครงการสัมมนา ฝึกอบรม หรือศึกษาดูงาน แต่ปรากฏภาพหลุดว่าอาจเป็นการนำงบประมาณที่ได้ไปจัดกิจกรรมแฝงการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกรณีนี้สำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและอาจขัดต่อระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องของทางการราชการในการใช้งบประมาณ เป็นการนำเงินงบประมาณโครงการไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเพื่อประโยชน์ในการสันทนาการของผู้ร่วมโครงการ

        “โดยปกติการดำเนินโครงการสัมมนาฝึกอบรมของหน่วยราชการ เจ้าหน้าที่ผู้เป็นเจ้าของโครงการในฐานะ “ผู้เสนอเรื่อง” กับผู้บังคับบัญชาในฐานะ “ผู้อนุมัติ” ที่มีอำนาจอนุญาตให้จัดกิจกรรมในแต่ละครั้ง ต้องระลึกอยู่เสมอว่าการสัมมนา อบรม หรือดูงาน ที่จะจัดขึ้นมีความสอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานหรือไม่ เพราะหากเป็นการจัดกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามภารกิจของหน่วยงานอาจเป็นประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบถึงความเหมาะสมและคุ้มค่าในการจัดกิจกรรมนั้น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น กรณีบางหน่วยงานจัดกิจกรรมปลูกป่า ทั้งที่หน่วยงานนั้นมิได้มีภารกิจที่จะต้องปลูกป่า ตลอดจนหน่วยงานต้นสังกัดก็ไม่มีนโยบายสั่งการให้ดำเนินการโครงการประเภทนี้ ซึ่งหน่วยงานตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณมักจะมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกิจกรรมที่มีเป้าหมายการจัดที่ไม่ตรงกับพันธกิจของหน่วยงานอยู่บ่อยครั้ง”

        นอกจากนี้ ยังพบกรณีที่เบิกจ่ายเงินจัดกิจรรมไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือที่เรียกว่า “สัมมนาทิพย์” ซึ่งมักมี 2 รูปแบบ ได้แก่ กรณีแรก จำนวนวัน หรือจำนวนคนเข้าร่วมกิจกรรมจริงน้อยกว่าจำนวนที่ขออนุมัติค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่าง เช่น ขออนุมัติให้จัดงาน 4 วัน แต่จัดจริงเพียง 3 วัน หรือขอจัดงานสำหรับ 100 คน แต่จัดจริงเพียง 50 คน แล้วนำเงินส่วนต่างไปใช้จ่ายอย่างอื่น อาทิ นำไปเป็นค่าท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนกรณีที่สอง  ไม่มีการจัดกิจกรรม แต่กลับปลอมแปลงเอกสารหลักฐานเพื่อไปเบิกเงินค่าใช้จ่ายจากทางราชการ ซึ่งการกระทำผิดประเภทนี้มีความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียกับตัวเจ้าหน้าที่รัฐเองแล้ว ยังทำให้หน่วยงานหรือองค์กรเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะนำเงินงบประมาณแผ่นดินที่ควรจะใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ นำไปท่องเที่ยวหรือใช้จ่ายตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลโดยทุจริต

        สำหรับผู้ร่วมกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น “ผู้เสนอเรื่อง” ตลอดไปจนถึง “ผู้อนุมัติ” อาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท” และมาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

        ทั้งนี้ หลายกรณีของการจัดสัมมนา อบรม ดูงาน แฝงการท่องเที่ยว เมื่อมีการตรวจสอบจากหน่วยงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ ตรวจพบว่ามีการจัดกิจกรรมไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด หรือมีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่เหมาะสม มีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกเงินคืนอีกด้วย เช่น กรณีโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จัดโครงการศึกษาดูงานเชิงปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดพังงา แต่เกาะปิดจึงทำให้ต้องเดินทางไปยังเกาะเฮจังหวัดภูเก็ตแทน โดยมีภาพที่ปรากฏออกมาเป็นหลักฐานว่าการเดินทางไปในครั้งนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อศึกษาดูงานแต่อย่างใด แต่กลับเป็นการเดินทางเพื่อไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของคณะดูงาน และผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจาก สตง. เห็นว่าเป็นการเบิกจ่ายผิดวัตถุประสงค์ จึงมีการเรียกคืนเงินงบประมาณจัดโครงการเป็นจำนวน 400,000 บาท จึงเห็นได้ว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากจะได้รับโทษทางอาญา และวินัยแล้ว ยังต้องเรี่ยไรเงินจากคณะดูงานที่ใช้ไปในการสัมมนาแฝงเที่ยว เพื่อคืนให้แก่ราชการอีกด้วย

        นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในตอนท้ายว่า  การใช้จ่ายเงินของหน่วยราชการไปกับการสัมมนา อบรม ดูงาน สามารถกระทำได้ แต่ต้องยึดระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการจากการจัดกิจกรรม ว่ามีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด และสอดคล้องตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานหรือไม่ เพราะเงินงบประมาณแผ่นดิน มาจากเงินภาษีของประชาชน ดังนั้น การใช้จ่ายย่อมต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

Related