Contrast
Font
699d60c3f8923ab714fbe5093ae52ba6.jpg

ป.ป.ช.เผย “แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงโดยมิชอบด้วยกฎหมาย” เสี่ยงผิดวินัยร้ายแรง และต้องโทษอาญา

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1731

03/07/2566

        ป.ป.ช. เผย การแต่งตั้ง โยกย้าย หรือยัดตำแหน่งเพื่อเข้ารับราชการ นับเป็นความผิดวินัยร้ายแรง เข้าข่ายเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ยิ่งพบกรณีเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน เพื่อซื้อตำแหน่ง ยิ่งเข้าข่ายทุจริต ต้องรับโทษทั้งทางวินัย และอาญา

        นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า รูปแบบพฤติการณ์ทุจริตมีหลายรูปแบบ ไม่ได้มีเพียงแค่การทุจริตที่ส่งผลกระทบกับงบประมาณรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเบียดบังใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตน ดังเช่น กระบวนการใช้เงินวิ่งเต้นให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง หรือให้ได้มีโอกาสเข้ารับราชการ ซึ่งการกระทำดังกล่างถือว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง และมีความผิดทางอาญา ดังเช่น ตัวอย่างคดีที่เคยมีเรื่องร้องมายัง ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเรียกรับเงินโดยหลอกลวงว่าสามารถช่วยบรรจุเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐได้ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดมีโทษทั้งทางวินัยและอาญา โดนออกจากราชการ ทั้งยังต้องโทษจำคุกและปรับ

        นอกจากนี้ ยังพบว่ามีกระบวนการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้บริหารระดับสูงโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการ ดังเช่น ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้เสนอเรื่องระบบการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบและอนุมัติให้นำระบบดังกล่าวมาใช้ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้จัดทำบัญชีผู้มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับสูง โดยต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมนักบริหารระดับสูงและผ่านการประเมินสมรรถนะของนักบริหาร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ แต่ผู้บริหารรายนั้นได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากมติคณะรัฐมนตรี คือ ให้ผู้ผ่านการอบรมนักบริหารระดับสูงที่ ก.พ. รับรอง และให้ส่วนราชการที่มีตำแหน่งว่างสามารถเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับสูงได้ แต่กลับมีกระบวนการแต่งตั้งผู้สมัคร โดยมิได้คัดเลือกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้มีผู้เสียหายและได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาว่าการที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเป็นการไม่ชอบด้วยมติคณะรัฐมนตรี และไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้ผ่านการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหาร ดังนั้นหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้มีคำพิพากษาว่าคณะกรรมการได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ และตามมติคณะรัฐมนตรี การกระทำมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สมัคร และมีการกำหนดตัวบุคคลไว้เป็นการล่วงหน้า จึงทำให้คำสั่งแต่งตั้งรองอธิบดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

        การกระทำเพื่อให้คนของตนได้เลื่อนตำแหน่งโดยมิชอบ ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Related