จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 327
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลพบุรี ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการทุจริตในพื้นที่ กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและสรุปผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทุจริตในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรี โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และผู้แทนจากชมรม STRONG จังหวัดฯ ร่วมสังเกตการณ์ และรวบรวมข้อมูลความเสี่ยงในการทุจริต พร้อมเสนอแนะให้กระบวนการ e–bidding มุ่งเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้
นางจงกลณี กมลวิเศษกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อติดตามและสรุปผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทุจริตในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรี ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ อำเภอหนองม่วง อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอโคกสำโรง อำเภอพัฒนานิคม และอำเภอชัยบาดาล จำนวน 51 คน และผู้แทนจากชมรม STRONG จังหวัดลพบุรีเข้าร่วม เพื่อสังเกตการณ์ และรวบรวมข้อมูลปัญหาที่อาจเกิดความเสี่ยงในการทุจริตและประพฤติมิชอบในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรี ในประเด็น “การเฝ้าระวังโครงการตามคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565” งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อก่อสร้าง/ปรับปรุงซ่อมแซมถนนของกระทรวงมหาดไทย ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งโครงการดังกล่าวครอบคลุมเขตพื้นที่อำเภอบ้านหมี่, อำเภอหนองม่วง, อำเภอเมืองลพบุรี, อำเภอโคกสำโรง, อำเภอพัฒนานิคม และอำเภอชัยบาดาล รวมทั้งสิ้น 23 โครงการ วงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 60,468,200 บาท
ในกิจกรรมดังกล่าวยังได้จัดให้มีการร่วมอภิปรายให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรค และความเสี่ยงที่อาจเกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบในการดำเนินโครงการประเภทงานก่อสร้าง โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e–bidding) ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ความเสี่ยงการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐส่วนใหญ่จะมาจาก 2 กรณีหลัก ๆ ได้แก่ 1. การล็อคสเปค เช่น ล็อคข้อกำหนดของเนื้องาน หรือล็อคที่คุณสมบัติของผู้รับจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งบริษัทฯ ที่มีการเอื้อประโยชน์ในทางมิชอบแก่กัน และ 2. การฮั้ว ที่เป็นการทุจริตในการสมยอมราคากัน ทั้งนี้ พบว่าการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่มักมีเบื้องหลังมาจากเจ้าหน้าที่รัฐแทบทั้งสิ้น จึงต้องใช้ความระวัดระวังในทุกขั้นตอนการทำงานและปฏิบัติงานโดยยึดหลักความสุจริต โปร่งใส
ถึงแม้ว่าจะมีระบบ e-Bidding จะเข้ามาช่วยป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการทุจริตได้ทั้งหมด เพราะผู้กระทำทุจริตย่อมหาช่องทางในการเล็ดลอดการตรวจสอบด้วยวิธีที่แยบยลมากขึ้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องปฏิบัติงานโดยยึดหลักประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน ตลอดจนต้องคอยติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของภาคเอกชนที่ชนะการประมูล ว่าได้ดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตามข้อกำหนดขอบเขตเนื้องานหรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นการเสี่ยงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินที่มีมูลค่าสูง การเบิกจ่ายจึงต้องอยู่ภายใต้หลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้อย่างแท้จริง