Contrast
Font
c8cd1c11dd955cfd06fdbd70dcb75736.jpg

ป.ป.ช.ขอนแก่น พัฒนาเครือข่ายตรวจสอบทุจริต ติวเข้ม ภาคประชาสังคม เครือข่ายต้านโกง

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 373

19/05/2566

        สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนงานป้องกันทุจริตเชิงรุก เชื่อมโยงภาคประชาสังคมเป็นหูเป็นตา จัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "พัฒนาเครือข่ายพิทักษ์ทรัพยากรสาธารณะและตรวจสอบการทุจริตจังหวัดขอนแก่น” เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกแก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการและประชาชน ทุกสาขาอาชีพ ในการปกป้องทรัพยากรสาธารณะ เฝ้าระวังแจ้งเบาะแส และตรวจสอบการทุจริต พร้อมการใช้สื่อรูปแบบต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการสื่อสารให้ประชาชนไม่ทนต่อคอร์รัปชัน

        ดร.สมยงค์ แก้วสุพรรณ ประธานเครือข่าย ป.ป.ช. ภาคประชาสังคมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การอบรมสัมมนา เชิงปฏิบัติการ "พัฒนาเครือข่ายพิทักษ์ทรัพยากรสาธารณะและตรวจสอบการทุจริตจังหวัดขอนแก่น" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จัดโดยเครือข่าย ป.ป.ช. ภาคประชาสังคมจังหวัดขอนแก่น และ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น  มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งและพัฒนาเครือข่ายพิทักษ์ทรัพยากรสาธารณะและตรวจสอบการทุจริตในจังหวัดขอนแก่น โดยพัฒนาจากผู้นำและแกนนำต้นแบบเครือข่าย ป.ป.ช. ภาคประชาสังคมจังหวัดขอนแก่น 26 อำเภอ เพื่อสร้างจัดทำชุดสาระความรู้ คู่มือการพัฒนาผู้นำต้นแบบในการป้องกันการพิทักษ์ทรัพยากรสาธารณะและตรวจสอบการทุจริตในจังหวัดขอนแก่น และการอบรมสัมมนาแกนนำชุมชนต้นแบบในจังหวัด จำนวน 150 คน พร้อมสร้างทีมปฏิบัติการเพื่อรวบรวมข้อมูลเฝ้าระวังแจ้งเบาะแส และพิทักษ์ทรัพยากรสาธารณะและตรวจสอบการทุจริตในพื้นที่จำนวน 30 ทีม ทีมละ 5 คน รวม 150 คน เวลาปฏิบัติงาน 2 วัน วันละ 5 จุดรวม 300 จุด มีคณะกรรมการดำเนินการประจำเขต 8 เขต เขตละ 20 คน รวม 160 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เข้าร่วมเครือข่ายโดยสมัครใจ และมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะเป็นแนวร่วมป้องกันทุจริตกับ ป.ป.ช.

        นอกจากนี้ ในงานยังมีการบรรยายเรื่อง " การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทยไร้ทุจริต และกิจกรรมเสวนา "เหลียวหลังแลหน้า" บทเรียนการต่อต้านการทุจริตในรอบปีที่ผ่านมาและอนาคตเราจะแพ้หรือชนะ อีกทั้งยังได้มีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นและนำเสนอสถานการณ์การทุจริตในพื้นที่/ข้อมูลโครงการต่าง ๆ และการปฏิบัติงานตรวจสอบการทุจริตในพื้นที่

        ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของภาคประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการลดปัญหาการคอร์รัปชันตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันการทุจริต ที่มุ่งเน้นความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมในการเป็นหูเป็นตาสอดส่องป้องกันการทุจริตในพื้นที่

Related