Contrast
Font
cda0fd1221e4d65325a64e6dec970177.jpg

นยปส. รุ่นที่ 14 เสนอยุทธศาสตร์แก้คอร์รัปชัน ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หวังลดทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 284

02/09/2566

          นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ นยปส.รุ่นที่ 14 สถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอยุทธศาสตร์ป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น ดันยุทธศาสตร์ย่อย “PRIDE” หวัง เป็นช่องทางลดทุจริตระดับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในงาน สัมมนาสาธารณะหัวข้อ "ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น"  และปาฐกถาพิเศษเรื่อง “Zero Tolerance Anti – corruption Campaign:  How did China stop corruption?” ว่า ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร “นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง” (นยปส.) รุ่นที่ 14 ได้ร่วมกันนำเสนอ “ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น” ต่อสถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์ สำนักงาน ป.ป.ช. หลังเข้าร่วมอบรมหลักสูตรตลอดระยะเวลา 7 เดือนเศษ และได้มีการค้นคว้า ศึกษา และวิจัยร่วมกันของผู้เข้าอบรมหลักสูตร ซึ่งพบว่าการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของท้องถิ่น มีแนวทางป้องกัน 5 แนวทางยุทธศาสตร์ ซึ่งหากนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมจะสามารถป้องกันการทุจริตระดับท้องถิ่นได้

โดยกำหนดเป็น 5 ยุทธศาสตร์ย่อย คือ “PRIDE” ซึ่งประกอบด้วย

     ยุทธศาสตร์ที่ 1 P = Politics คือ การสร้างพลังทางการเมืองสุจริตเพื่อป้องกันการทุจริต ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง ส่งเสริมผลักดันนโยบายโดยประขาชน ไปสู่ภาคการเมือง พัฒนาสถาบันพรรคการเมือง และสร้างกลไกตรวจสอบ

     ยุทธศาสตร์ที่ 2 R = Regulatory คือ เครื่องมือทางกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลและการบูรณาการ ด้วยพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพัฒนานักการเมืองและบุคลากรท้องถิ่น

     ยุทธศาสตร์ที่ 3  I = Involvement คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดแผน โครงการและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ

     ยุทธศาสตร์ที่ 4 D = Digitalization คือ สร้างนวัตกรรมและเครื่องมือในการป้องกันการทุจริต นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินนโยบาย จัดฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปรับโครงสร้าง ปรับกระบวนการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำนวัตกรรมมาใช้

     ยุทธศาสตร์ที่ 5 E = Evaluation คือ การพัฒนาตัวชี้วัดในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย 2 กลยุทธ์หลัก คือพัฒนาตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาตัวชี้วัดที่มีพลวัต

          ทั้งนี้ นยปส. รุ่นที่ 14 ได้มีการนำร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะได้นำเสนอต่อ สำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเป็นเครื่องมือในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายระดับท้องถิ่นต่อไป โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง และเกิดผลเป็นรูปธรรม

 

 

 

Related