Contrast
Font
792a859e569b20ed8c6f06300f535298.jpg

ป.ป.ช. ตอบรับนโยบายรัฐ ต่อยอดแผนงานต่อต้านการทุจริต รับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1153

11/10/2566

ป.ป.ช. ตอบรับนโยบายรัฐ ต่อยอดแผนงานต่อต้านการทุจริต รับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ป.ป.ช. ตอบรับนโยบายรัฐ ต่อยอดแผนงานด้านต่อต้านการทุจริตทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการร่วมมือประสานงานด้านสื่อเพื่อประสิทธิผลในการเผยแพร่ความรู้และกระจายข่าวสารด้านการต่อต้านการทุจริต สอดรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

          สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ และมอบหมายให้ผู้มีอำนาจกำกับแผนงาน บูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ทั้งหมด 10 แผนงาน โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการจัดทำงบประมาณ หนึ่งในแผนงานสำคัญก็คือ ด้านบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นเจ้าภาพหลัก มีหน้าที่รับผิดชอบดูแล ซึ่งรัฐบาลได้ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. สานต่อเจตนารมย์ของในแต่ละเป้าหมายให้ชัดเจนและครอบคลุมครบถ้วน สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายด้านบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนสูงสุด

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานต่อต้านการทุจริต ของสำนักงาน ป.ป.ช. จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่กำลังผ่านพ้นไปแล้ว และต่อยอดสอดรับกับนโยบายของคณะรัฐมนตรี ไปถึงแผนงานด้านบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยระบุว่า ปัจจุบันสังคมไทยเกิดความตื่นตัวในการต่อต้านการทุจริตกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทั้งแง่มุมของการให้เบาะแสชี้มูลจากประชาชนในพื้นที่ที่ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการอันส่อไปในทางทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยเวลานี้ ยังคงมีให้เห็นอยู่มากในทุกระดับชั้นและทุกท้องที่ แน่นอนว่า สำนักงาน ป.ป.ช. แม้จะเป็นองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ ทั้งในด้านการรณรงค์ การประชาสัมพันธ์ และการตรวจสอบไต่สวนการทุจริต แต่การขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าด้วยจุดยืนของการปราศจากการคอร์รัปชัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่องค์กรหรือหน่วยงานใดเพียงแค่หน่วยงานหรือองค์กรเดียว จะสามารถดำเนินการขับเคลื่อนการป้องปรามการทุจริตให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ทั้งหมด ซึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศ จะประสบผลสำเร็จให้ได้ตามเป้าหมายนั้น จำเป็นจะต้องมีการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ การประสานงานร่วมกับสื่อมวลชนทุกแขนง รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมต่าง ๆ เองก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลในการขยายผลการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านการต่อต้านการทุจริตไปสู่สังคมไทยให้ได้แพร่หลายและทั่วถึงมากขึ้น

          นายนิวัติไชย เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยต่อไปว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้เดินหน้าผลักดันในส่วนของงานเสริมสร้างทัศนคติ และการปลูกฝังจิตสำนึกให้บุคลากรในภาครัฐ เกิดองค์ความรู้ สร้างความตระหนัก ไปกระทั่งถึงบทลงโทษเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่เกี่ยวโยงกับการกระทำอันเป็นการทุจริตทุกรูปแบบ รวมถึงการเสริมสร้างบทบาทในการขับเคลื่อนงานสื่อสาร สร้างกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต รู้จักแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ต้องไม่ให้และไม่รับสินบน รวมทั้งให้ประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วมในการช่วยกันสอดส่อง เฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการทุจริต กล้าที่จะชี้เบาะแส ในกรณีหากพบเห็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และกล้ายืนหยัดต่อสู้กับการทุจริตเพื่อความถูกต้อง พร้อมกับต้องสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อระบบการรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนหรือผู้แจ้งเบาะแสมายัง สำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่ามีการปกป้องผู้ร้องจริงจัง เพื่อให้องค์กรสามารถเป็นที่พึ่งประชาชนได้ และมั่นใจได้ว่า ข้อมูลของผู้ร้องเรียนจะถูกเก็บเป็นความลับ และมีการดำเนินการคุ้มครองช่วยเหลือพยานด้วย โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ การร่ำรวยผิดปกติ ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ผ่านศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ศูนย์ CDC 

          นอกจากนี้ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังกล่าวด้วยว่า เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. ยังคงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมมือร่วมแรง ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานสื่อสารการเผยแพร่ข่าวสารการทุจริตทุกแง่มุมให้แก่คนในสังคมได้รับรู้ถึงผลเสียหายจากการทุจริต ผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ในการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกในทุกภาคส่วน ทั้งประชุมเสวนาและการอภิปรายเพื่อสร้างจุดยืนด้านการต่อต้านการทุจริต เพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ในหน่วยงานของรัฐ ผ่านองค์กรภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เหมือนกับหลายๆโครงการที่ดำเนินการมาตลอดปี พ.ศ. 2566 นี้ อาทิ โครงการ “สื่อมวลชนสัมพันธ์ โดย สำนักงาน ป.ป.ช. ครั้งที่ 3” ที่เพิ่งจบไปช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ภายใต้การดำเนินการของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ลงพื้นที่ทั้งสำรวจ สร้างความร่วมมือและความเข้าใจร่วมกัน ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี ก็เป็นอีก 1 กิจกรรมที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิบัติการเชิงรุก ด้วยการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ ได้มีส่วนร่วม ได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. พร้อมกับได้มีการติดตามผลที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมทั้งหมด ซึ่งหวังว่าจะสร้างความสำเร็จอย่างสูงในด้านการเสริมสร้างความเข้าใจถึงกระบวนการทำงานที่ถูกต้อง รวมถึงขั้นตอนการนำข้อมูลข่าวสารไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่สาธารณชนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในปีถัดไป

          และที่สำคัญที่สุด ก็คือการสร้างวิสัยทัศน์ให้เกิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไม่ใช่เฉพาะกับแค่ สำนักงาน ป.ป.ช. แต่ยังรวมถึงหน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่เชิงรุกด้านการต่อต้านการทุจริต ให้เกิดการประสานงานร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นอีกด้วย

Related