จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 262
ป.ป.ช.วางแนวทางให้ป่าชุมชนสามารถขายคาร์บอนเครดิต ส่งต่อแนวคิดพิทักษ์ป่าสู่เยาวชน
สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าผลักดันโครงการปกป้องดูแลป่าของเครือข่ายป่าชุมชน ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม พร้อมวางแนวทางให้ป่าชุมชนสามารถขายคาร์บอนเครดิต และเชื่อมหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้เข้าถึงเด็กๆในชุมชน ให้ได้เรียนรู้และปลูกจิตสำนึกถึงการพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยถึงประเด็นของ “โครงการปกป้องดูแลป่าของเครือข่ายป่าชุมชน จากขบวนการลักลอบตัดไม้”ถือเป็นอีกโครงการที่ ป.ป.ช.ให้ความสำคัญ และยังจำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์ ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้เตรียมวางแนวทางเพื่อให้ป่าชุมชนสามารถขายคาร์บอนเครดิต ส่งต่อเงินทุนและแนวคิด STRONG พิทักษ์ป่าสู่เยาวชน สืบเนื่องจากที่ เครือข่ายป่าชุมชน จังหวัดร้อยเอ็ด ได้พยายามทำงานต่อสู้และปกป้องป่าจากขบวนการตัดไม้มีค่ากันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 จากกลุ่มนายทุนและผู้ลักลอบตัดไม้มีค่า จำพวกไม้พะยูง ซึ่งมีรายงานว่าไม้พะยูงในพื้นที่มากกว่า 70 ต้น ถูกลักลอบตัดและขนออกไปจากพื้นที่ป่าแห่งนี้ แม้ปัจจุบัน จะยังคงหลงเหลืออยู่ แต่ก็มีไม่มาก จึงเป็นอีกภารกิจสำคัญของ ป.ป.ช.ในการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนทั้งในแง่มุมความรู้ด้านกฎหมายให้กับชาวบ้านและปลูกฝังด้านจิตสำนึกและความคิดต่อต้านการทุจริตกับชาวบ้านในชุมชน โดยเฉพาะให้กับเด็กๆเยาวชนตามโรงเรียนในพื้นที่ ให้ได้เห็นถึงคุณค่าของผืนป่า
สำหรับโครงการดังกล่าว นอกจากที่ ป.ป.ช.จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้แล้ว ในช่วงปี พ.ศ.2565-2566 ยังได้นำ หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา มาเชื่อมกับการทำงานระหว่างเครือข่ายป่าชุมชนและเยาวชนอีกด้วย โดยมีการสร้างเครือข่าย STRONG พิทักษ์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นโมเดลการทำงานที่เข้มแข็ง ร่วมกับเครือข่ายป่าชุมชนเกือบ 200 แห่งในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยในช่วงปลายภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2566 ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวหลังฝนตก เป็นช่วงเวลาเห็ดป่าออก จึงเหมาะสมที่สุดที่ป่าชุมชนดงน้ำคำ บนพื้นที่กว่า 900 ไร่ ใน ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด จะถูกใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ของหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ให้กับโรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงาน ป.ป.ช. พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในกระบวนการการศึกษา ให้เด็กๆ ในโรงเรียนที่อยู่ใกล้ป่าชุมชนได้เรียนรู้เรื่องการทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติจริงๆ
ภายหลังจากที่ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ลงพื้นที่มาเป็นที่ปรึกษาให้กับชุมชน ก็ส่งผลให้การทำงานอาสาของเครือข่ายป่าชุมชน เข้มแข็ง มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ชาวบ้านเกิดความมั่นใจ กล้าที่จะทำงานที่เสี่ยงในการต่อสู่กับกลุ่มนายทุนและขบวนการลักลอบตัดไม้มีค่า ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง ด้วยการแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวต่อไปว่า การผลักดันให้ป่าชุมชนสามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของประเทศ โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2566 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ออกกฎหมายอนุบัญญัติ ตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 จำนวน 4 ฉบับ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากไม้และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชุมชน มีการศึกษาค้นคว้าวิจัย ตรวจสอบและประเมินผลป่าชุมชน ตลอดจนการกำหนดสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ด้วยการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนป่าชุมชน เพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของป่าชุมชนในการกักเก็บคาร์บอนและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามาสนับสนุนชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชนให้มากขึ้น อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
ในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ของ ป.ป.ช. ร่วมกับ เครือข่ายป่าชุมชน จ. ร้อยเอ็ด สานต่อนโยบายของภาครัฐ โดยจัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับแนวทางลดการทุจริตด้านทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะโครงการภาคป่าไม้ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต นำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่ทำให้เครือข่ายป่าชุมชนมีรายได้ มาบริหารจัดการดูแลผืนป่า ซึ่งมีเจ้าหน้าที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มาให้ความรู้ ตามแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐบาล ในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ที่ต้องการให้ประเทศไทยเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 120 MtCO2eq ภายในปี ค.ศ. 2037 (พ.ศ.2570)
จากจุดเริ่มต้นของการนำโมเดล STRONG พิทักษ์ป่า ไปทำงานกับเครือข่ายป่าชุมชน เกือบ 200 แห่งใน จ.ร้อยเอ็ด ทำให้เห็นความสำคัญในการขยายการทำงานไปยังทั่วประเทศ เครือข่ายป่าชุมชนหลายแห่ง ได้เริ่มวางแผนพัฒนาผืนป่าของพวกเขา ให้กลายเป็นสถานที่เรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เพื่อให้ลูกหลานในชุมชนและคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เหมือนเป็นการสืบทอดมรดกการดูแลป่าให้ส่งต่อถึงรุ่นลูกหลานในชุมชน เพื่อเป็นหลักประกันให้การดูแลรักษาป่าเป็นไปอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต