จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1825
“เหตุใดคะแนน CPI ลดลง สวนทางกับความสำเร็จของงานด้านการป้องปรามการทุจริต”
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เป็นองค์กรอิสระระดับนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และมีเครือข่ายอยู่เกือบทุกประเทศทั่วโลก ในแต่ละปีองค์กร TI จะทำการประเมินประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 180 ประเทศ และประกาศผลคะแนน ซึ่งเรียกว่า ดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ ค่า CPI ประเทศไหนค่า CPI สูง แปลว่า ประเทศนั้นมีความโปร่งใสมาก มีคอร์รัปชันต่ำ หากประเทศไหนมีค่า CPI ต่ำ แปลว่า ประเทศนั้นมีความโปร่งใสน้อย มีคอร์รัปชันสูง และเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาองค์กร TI ได้ประกาศผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2566 ปรากฏว่า ประเทศไทยได้คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ที่ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 108 ของโลก และอยู่ในอันดับ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยได้ระดมทุกสรรพกำลังในการป้องกันการทุจริต เสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยปลอดทุจริต สร้างความโปร่งใส ส่งเสริมการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานหลักด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งทำงานทั้งด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเต็มที่ในทุกมติ นับรวมถึงประเด็นข้อเสนอแนะ มาตรการป้องกันการทุจริตต่าง ๆ ที่เสนอไปยังรัฐบาลล้วนแต่เกิดจากความตั้งใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อหวังให้ประเทศไทยปลอดทุจริตคอร์รัปชันและมีค่าคะแนน CPI สูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก
ตัวอย่างหนึ่งของงานด้านการป้องกันการทุจริตของ สำนักงาน ป.ป.ช. ภายใต้การกำกับของ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. “2 ปีเต็มกับการดำเนินงานของศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. (Corruption Deterrence Center) หรือ ศูนย์ CDC” ตั้งเป้าป้องกันการทุจริต ตรวจสอบเรื่องหรือประเด็นเบาะแสการทุจริตตามนโยบายป้องนำปราบ คือ เน้นงานด้านการป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการทุจริตและลดจำนวนคดีที่เข้ามาในระบบปราบปรามให้น้อยลง ตลอด 2 ปี
ศูนย์ CDC รายงานผลการดำเนินงานปรากฏว่ามีเรื่องหรือประเด็นเบาะแสการทุจริตเข้ามา จำนวน 1,553 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่หน่วยงานของ สำนักงาน ป.ป.ช. เข้าไปดำเนินการแล้วตรวจสอบเฝ้าระวังการทุจริตแล้ว 985 เรื่อง ประสานให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาแล้ว 339 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 169 เรื่อง และสำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการรับเรื่องในระบบตรวจรับคำกล่าวหาแล้ว 60 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นลักษณะความผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและระบบสาธารณูปโภค จำนวน 1,151 เรื่อง รองลงมาเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ จำนวน 223 เรื่อง ประเด็นที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 130 เรื่อง ประเด็นการเรียกรับทรัพย์สิน จำนวน 47 เรื่อง และประเด็นร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 2 เรื่อง คำนวณวงเงินงบประมาณในการเฝ้าระวังความเสียหายมากกว่า 146,654 ล้านบาท (* คำนวนจากงบประมาณของโครงการที่เข้าตรวจสอบมิใช่จำนวนเงินของการทุจริต) หากไม่มีศูนย์ CDC ที่มาจับตาเฝ้าระวังและลงพื้นที่ตรวจสอบการทุจริตให้ท่านลองนึกภาพคดีทุจริตที่เพิ่มขึ้น 1,553 คดี หรืองบประมาณที่ทุจริตแค่ร้อยละ 10 ของ 146,654 ล้านบาท ประเทศเราจะเสียหายมากขนาดไหน
ถึงแม้ว่าหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงนักลงทุนบางกลุ่มจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับคะแนน CPI มากนัก แต่ในประเทศไทยมีการกำหนดเป้าหมายคะแนน CPI ของประเทศไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) และกำหนดตัวชี้วัด “ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย” ต้องได้คะแนนมากกว่า 50 คะแนน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันภายในประเทศไทยดีขึ้นมาก แต่ค่าคะแนน CPI ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร จึงอยากฝากถึงองค์กร TI เกี่ยวกับการประเมินผลว่า ควรมีการเปิดเผยแหล่งข้อมูลหรือฐานข้อมูล ที่นำมาประเมินให้โปร่งใส หรือผู้ประเมินมีมุมมองต่อหน่วยงานใด อย่างไร ประเทศผู้รับการประเมินจะได้แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
และไม่ว่าผลการประเมินหรือคะแนน CPI จะออกมาอย่างไร สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ ความสำเร็จในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันจะเกิดขึ้นได้เมื่อภาคราชการ ภาคประชาชน และภาคเอกชนร่วมมือกัน ภาคราชการทำงานอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา ประชาชนช่วยการตรวจสอบเฝ้าระวัง ภาคเอกชนพร้อมใจไม่สนับสนุนการทุจริต หากภาพนี้เกิดขึ้นจริงการทุจริตคอร์รัปชันภายในประเทศไทยก็จะลดลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย