Contrast
Font
79861dc346f48a54d4dc71401df873d5.jpg

ป.ป.ช. กับบทบาทในการจัดการคดีทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 491

21/02/2567

ป.ป.ช. กับบทบาทในการจัดการคดีทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

“เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ มีการเปิดช่องว่างให้กับเอกชน หรือกลุ่มนายทุน เข้ามาอาศัยช่องว่างขอสัมปทาน เพราะการขอสัมปทานแบบพิเศษ คือการล๊อกสเปก กลุ่มทุนเหล่านี้ ก็จะมีแรงหนุนจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ด้วย และกลุ่มข้าราชการการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงที่มีอำนาจ ในการใช้อำนาจโดยมิชอบ และได้ประโยชน์จากการทุจริตเหล่านั้นด้วย”

 

เมื่อได้รับรู้ รับทราบข้อมูลก็ทำให้คิดได้ว่า การทุจริตในพื้นที่สัมปทานมันง่ายขนาดนั้นเลยหรือ? เพียงแค่มี เจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มี “อิทธิพล” เข้ามาใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริต โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจในการขจัดปัญหาทุจริตนี้ จะมีวิธีการอย่างไร? ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ลดลง หรือหมดไปได้ในอนาคต

 

ทรัพยากรป่าไม้มีความสำคัญในการเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินป่าไม้ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยมาโดยตลอด การดำเนินการของภาครัฐ นอกจากการสงวนและคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้ ตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว ภาครัฐยังมีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ด้วย กรณีที่ดินป่าไม้บางประเภท ส่วนราชการหรือองค์กรของรัฐ นิติบุคคล และบุคคลทั่วไป สามารถขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ ได้ตามกฎหมาย เพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่นเพื่อประโยชน์ในทางราชการ เพื่อการอยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพเกษตรกรรมเพื่อจัดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อการปลูกป่า เพื่อการสำรวจแร่และการทำเหมืองแร่ เพื่อทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างศาสนสถาน เพื่อการขุด เก็บ ซึ่งทราย ลูกรัง หรือดิน ที่มิใช่การทำเหมืองแร่ เป็นต้น

นายมงคล ศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการทุจริตกับทรัพยากรธรรมชาตินั้น เกี่ยวข้องกันอย่างไร และได้อธิบายว่า โดยทั่วไป คดีทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถแบ่งได้ 5 ประเภท ได้แก่

ประเภทที่ 1: คดีทุจริตเกี่ยวกับการบุกรุกป่า และที่ดินของรัฐ ทรัพยากรดิน น้ำ และทางทะเลและชายฝั่ง การใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้

ประเภทที่ 2: คดีทุจริตเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและออกใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงแรมในเขตพื้นที่ ที่มีเขตพื้นที่กำหนดตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประเภทที่ 3: คดีทุจริตเกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ประเภทที่ 4: คดีทุจริตเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

ประเภทที่ 5: คดีทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรแร่ เหมืองแร่ต่าง ๆ

และบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่จะสามารถเข้าไปดำเนินการในกรณีเกิดการทุจริตได้นั้น ก่อนอื่นจะเข้ามูลฐานความผิด 3 ฐาน คือ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีที่อยู่ในอำนาจไต่สวนของสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะมีอำนาจเข้าไปไต่สวนคดีทุจริตนั้น ๆ ได้ รวมถึงเอกชน หรือประชาชนที่มีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ที่ได้กระทำความผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะรวมอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งสิ้น

 

นายทุน ผู้มีอิทธิพล และนักการเมือง มีส่วนเกี่ยวข้องได้อย่างไร?

คดีทุจริตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ถ้าเป็นกลุ่มนักการเมือง จะมีตำแหน่งตั้งแต่ รัฐมนตรี สส. สว. รวมถึงข้าราชการระดับสูง ส่วนกลุ่มนายทุน จะเป็นกลุ่มทุนเอกชนที่ประกอบธุรกิจที่มีมูลค่าหลักพันล้าน หมื่นล้าน ซึ่งกลุ่มทุนเหล่านี้ ก็จะมีแรงหนุนจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ด้วย และกลุ่มข้าราชการการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงที่มีอำนาจ ในการใช้อำนาจโดยมิชอบ และได้ประโยชน์จากการทุจริตเหล่านั้นด้วย

 

เมื่อมีการทุจริตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีรูปแบบการทำงานอย่างไร?

สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่จะดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เช่น ถ้ามีการร้องเรียนมาตามช่องทางต่าง ๆ ของสำนักงาน ป.ป.ช. หรือกรณีปรากฏตามข่าวสื่อมวลชน หรือมีผู้แจ้งเบาะแสและที่สำคัญมีมูลฐานความผิดตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงาน ป.ป.ช. ก็สามารถยกเรื่องขึ้นมาตรวจสอบและไต่สวนได้ทันที

ในฐานะคนทำงานด้านปราบทุจริตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กล่าวอย่างน่าสนใจอีกว่า ความน่ากลัวของคดีทุจริตทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีเกือบทุกคดีที่ทำ เพราะเป็นคดีที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางสังคมและเศรษฐกิจ และคนที่จะทุจริตในคดีประเภทนี้ จะมีความมั่นใจว่ามีแรงหนุนจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล และสิ่งที่เป็นเกราะกำบังความน่ากลัวก็คือการให้ความเป็นธรรมของพนักงานไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช.

 

สำหรับเครื่องมือที่จะมาช่วยเหลือในการทำงาน ปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. มีกลุ่มงาน GIS โดยสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ได้คิดค้นและพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ เรียกว่า NACC MAP  มาใช้งานร่วมกัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างสะดวกในเรื่องของการตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาในการตรวจสอบแนวเขตที่ดินของรัฐ

จากนี้ บทบาทในอนาคตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นอย่างไร

ในปี พ.ศ. 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีนโยบายที่จะนำพาองค์กรก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมี Application “พิทักษ์ไพร” ที่จะสามารถบอกพิกัดของเราได้ ใช้เป็นเสมือนแผนที่เดินทางได้ สามารถแจ้งเบาะแสการบุกรุกได้ ตลอดจนสามารถดูข้อมูล แผนที่ พิกัดป่าสงวนและอุทยานต่าง ๆ ได้ เป็นต้น และยังมีคู่มืออิเล็กทรอนิกส์ สำหรับชี้แนะแนวทางการทำงานของพนักงานไต่สวน อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า ไม่ง่ายเลยกว่าที่จะสามารถดำเนินการกับกลุ่มบุคคลที่กล้าทุจริตเหล่านี้ได้ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความละเอียดรอบครอบ รวมถึงความกล้าหาญที่จะต้องเผชิญหน้าและต่อสู่กับอิทธิพล เพื่อดำเนินการเอาผิดกลุ่มบุคคลเหล่านั้นให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นสิ่งใกล้ตัวและส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน หน้าที่ปกป้อง รักษา หวงแหน ไม่ใช่แค่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่นั่นเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องร่วมกัน และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือประชาชนที่ช่วยกันเป็นหู เป็นตา และไม่นิ่งเฉยต่อการพบเห็นการทุจริต และขอให้ท่านมั่นใจได้ว่า ประชาชนทั่วไปที่มาแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือให้ข้อมูลกับสำนักงาน ป.ป.ช. หรือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จะได้รับการคุ้มครอง และเชื่อมั่นได้ว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จะดำเนินการให้โปร่งใส สมกับค่านิยมองค์กรของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ว่า “ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้

Related