Contrast
Font
774e225d21b0b03e944eeb25119fbfbb.jpg

แนวทางการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตกับความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทย

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 526

26/03/2567

แนวทางการมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตกับความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทย

          การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยเป็นปัญหาสังคมที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้าน โดยภาพรวมประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกยังคงล้มเหลวในการต่อสู้กับการทุจริต โดยมีประเทศมากถึง 95% ที่ไม่มีความคืบหน้าในการจัดการปัญหาการทุจริตเลยนับตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรื่องของการปราบปรามทุจริตเป็นไปอย่างยากลำบาก คือ เรื่องของความรุนแรงและความขัดแย้ง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยความขัดแย้งสร้างโอกาสในการคอร์รัปชันยิ่งเป็นประเทศที่ไม่มีสันติภาพ ยิ่งมีแนวโน้มคอร์รัปชันได้ง่ายและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

          สำหรับในประเทศไทย ในเรื่องของความเชื่อมั่นเกี่ยวกับลงทุนภายในประเทศไทย สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำการสำรวจการรับรู้การทุจริตด้านการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ พบว่า การรับรู้การทุจริตด้านการลงทุนในประเทศไทยในภาพรวม ประจำปี พ.ศ.2566 อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีการรับรู้การทุจริตของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการด้านการลงทุนในประเทศไทยมีการทุจริต ระดับปานกลางเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติรับรู้ถึงความพยายามในการปรับปรุงกระบวนการให้บริการด้านการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับใช้ในการขอใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสะดวก โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งมีการจัดทำศูนย์กลางใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว นอกจากนี้ การนำระบบ ITA (Integrity and Transparency Assessment : ITA) การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ มาใช้เป็นเครื่องมือการประเมินเชิงบวกเพื่อเป็นมาตรการป้องกันการทุจริต และเป็นกลไกสร้างความตระหนักให้หน่วยงานของรัฐมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใสและมีคุณธรรม ในด้านของนักธุรกิจเอกชน สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเอกชนมาเป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption : CAC) และมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติงานในภาครัฐ

          นอกจากนี้ จากการสำรวจของสำนักงาน ป.ป.ช. มุมมองของนักลงทุนไทยและต่างชาติในเรื่องของกระบวนการขอรับการลงทุนที่เป็นความเสี่ยงมีโอกาสเกิดการทุจริตมากที่สุด คือ ความล่าช้าในการให้บริการจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเรียกรับเงินหรือสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อแลกกับการให้บริการที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นช่องทางทุจริตที่นักลงทุนโดยทั่วไปต้องการความรวดเร็วในการติดต่องานกับส่วนราชการ ส่วนใหญ่ยินดีจะจ่ายเพื่อแลกกับโอกาสที่จะเสียไปจากการรอคอย โดยหากมองถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศไทย สาเหตุหลักๆ คือ ระบบการขอการลงทุนที่มีเอกสารมาก
ติดต่อหลายหน่วยงานใช้เวลานานตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐยังไม่เป็นระบบที่ดี รวมทั้งระบบการควบคุมตรวจสอบที่ทำได้ไม่ครอบคลุมทั้งระบบ และ เจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้ให้บริการด้านการขอการลงทุนบางส่วน ขาดคุณธรรมจริยธรรมการปฏิบัติงาน และขอรับบริการบางกลุ่มขาดจริยธรรมในการทำธุรกิจ รวมถึงมีระบบอุปถัมภ์ ระบบอิทธิพลในหน่วยงาน

          จะเห็นได้ว่า ในขณะที่การรับรู้การทุจริตของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการด้านการลงทุนในประเทศไทย แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในกระบวนการขอรับการลงทุนที่สามารถก่อให้เกิดการทุจริต ประกอบกับการสำรวจแนวโน้ม การทุจริตด้านการลงทุนในประเทศไทยอาจมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากยังมีช่องทางการใช้ดุลยพินิจ การมีอำนาจและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดจิตสำนึกด้านความซื่อสัตย์ นักลงทุนไม่อยากเสียเวลาร้องเรียน ชี้เบาะแส เพราะไม่มั่นใจ ในระบบการคุ้มครอง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนประชาสังคมในการร่วมต่อต้านการทุจริตมีไม่มากพอ และจะส่งผลต่อความไว้วางใจของนักลงทุนจนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้จัดทำแนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนี้

1. รณรงค์ให้ภาคประชาชน ประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันปราบปรามการทุจริต
2. ใช้มาตรการลงโทษทางสังคม (Social Sanction)
3. ใช้ระบบ IT ในการกำกับควบคุมและตรวจสอบระบบการขอลงทุน/ลดการใช้ดุลยพินิจ
4. เปิดเผยขั้นตอนการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ชัดเจน
5. ศึกษา ทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต
6. เสริมสร้างความเข้มแข็งและคุณธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ
7. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลภาครัฐเรื่องการปราบปรามป้องกันการทุจริตผ่านสื่อออนไลน์
8. ปลูกฝังเยาวชนให้เห็นความสำคัญของการทุจริต ส่งเสริมค่านิยมต่อต้านทุจริต

          ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความโปร่งใส และยกระดับดัชนี CPI ของประเทศไทยสูงขึ้น ลดการทุจริตในกระบวนการของการขอรับการลงทุน รวมถึงอาจส่งผลให้การรับรู้การทุจริตของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการ ด้านการลงทุนในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดีขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ในไทยให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

Related