Contrast
Font
a11736b1ed4f0246935681204fddacd6.jpg

รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ถนนพัง ปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 490

27/03/2567

รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ถนนพัง ปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข

 

หลายคนอาจเคยประสบปัญหาจากการใช้รถใช้ถนน ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนนพังเร็ว หรือเศษหินเศษดินที่ร่วงหล่นบนถนน ทำให้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนที่เสียหาย หมดอายุการใช้งานก่อนเวลา ประชาชนที่ใช้ถนนเกิดความไม่สะดวก เกิดการล่าช้าในการเดินทาง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

 

ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2528 คณะกรรมการ ป.ป.ป. (หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในปัจจุบัน) จึงได้มีการเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อคณะรัฐมนตรี และได้มีการติดตามผลการดำเนินการมาตรการดังกล่าวมาโดยตลอด แต่รถบรรทุกน้ำหนักเกินก็ยังปรากฎเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และพบว่ามีการเสนอข่าวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ว่ามีพฤติการณ์การละเลยต่อหน้าที่ หรือกระทำการทุจริต เช่น การรับส่วยหรือสินบน

 

จากปัญหาดังกล่าวที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องยกระดับและเร่งการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้เสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และให้รายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบ ดังนี้

1. การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินอย่างเป็นรูปธรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 ด้วย

2. พิจารณาการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการควบคุมกำกับดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ

3. จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย

4. ให้มีการออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง โดยเครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐาน จากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ การควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และรถบรรทุกต้องจัดให้มีป้ายแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่งด้วย พร้อมทั้ง สร้างช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิด

5. ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High-speed weigh-in-motion; HSWIM) และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้งใต้สะพาน (Bridge weigh-in-motion; BWIM) มาใช้ในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อลดปฏิสัมพันธ์และการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการชั่งน้ำหนัก

6. เพิ่มมาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

อีกทั้ง สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ได้ดำเนินการเพิ่มเติมโดยการจัดทำโครงการการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (21) ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (โครงการส่งเสริมและบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช.) โดยลงพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหา รูปแบบสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อเท็จจริง ผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และเพื่อให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี สามารถนำมาตรการหรือข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นายฤทธิรงค์ แก้วปัดชา หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุดรธานี (ขาเข้า) ได้ให้ข้อมูลสภาพปัญหาที่เกิดในมุมมองของหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ ว่าปัญหาสำคัญที่พบคืออัตรากำลังคนไม่เพียงพอ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจน ความเสี่ยงอันตรายของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ งบประมาณที่มีความล่าช้าและไม่เพียงพอ

 

เมื่อพบปัญหาจากหน่วยปฏิบัติงานในพื้นที่แล้ว ต้นสังกัดที่กำกับดูแลต้องนำปัญหาดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยเร็ว หากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการหาทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มแข็งไม่ละเลยหน้าที่ และดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็จะส่งผลให้สามารถลดการใช้งบประมาณเพื่อซ่อมแซมถนนที่พังก่อนเวลาอันสมควร รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นบนท้องถนนจากรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ถนนอย่างสะดวกสบายและมีความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น

Related