Contrast
Font
c6161f9081cb22b40519d13054c453ea.jpg

ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 2)

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 184

03/04/2567

ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 2)

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ครั้งที่ 2) ภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์กรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต (STRONG : Together against Corruption - TaC) โดยมีนายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ ในหัวข้อ “แนวทางการขยายเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับกรุงเทพมหานคร” นางวาธินี สุริยวรรณ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม และนางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมกล่าวเปิดกิจกรรม ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นการร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และกรุงเทพมหานคร ในการร่วมสร้างกรุงเทพมหานคร ให้โปร่งใสไร้ทุจริต "STRONG Smart Capital Bangkok" ซึ่งเป็นการสื่อถึงความมุ่งมั่นของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ต้องการสนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงที่โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบ เพื่อนำร่องให้กับพื้นที่อีก 76 จังหวัดทั่วประเทศ โดยการบูรณาการความร่วมมือด้วยกลไกสหยุทธ์กับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภาคส่วนต่าง ๆ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา และกำหนดแนวทางเฝ้าระวังการทุจริต เพื่อลดปัญหาความเสี่ยงต่อการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยของการทุจริต และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมรณรงค์ต่อต้านการทุจริต รวมทั้งมุ่งเน้นการเชื่อมโยงการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ลดความเสี่ยงต่อการทุจริตร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานตรวจสอบ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งสู่การส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริตและมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ส่งผลให้คดีทุจริตลดลง โดยมีผู้แทนชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 กลุ่มโซน ได้แก่ กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ ทั้งหมด 400 ท่าน ให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)

ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การยกระดับเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อสนับสนุนภารกิจป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช.” โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากนั้นยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ ในหัวข้อ “แนวทางการขยายเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับกรุงเทพมหานคร” จำแนกเป็นรายตัวชี้วัดตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตัวชี้วัดที่ 1.2 ประชาชนมีวัฒนธรรมค่านิยมสุจริตมทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และตัวชี้วัดที่ 2 คดีทุจริตลดลง โดยมี นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่อง “การแยกแยะประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม, ความละอายและความไม่ทนต่อการทุจริต, พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม ไปปรับใช้ในการปฏิบัติงาน/การดำรงตน มุ่งสู่การยกระดับค่าคะแนน CPI” นายเต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม และ นายสมคิด ปานเพชร ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่อง “บทบาท/หน้าที่/ภารกิจ ผลการทำงานที่ผ่านมาและแนวทาง การประสานความร่วมมือเพื่อมุ่งสู่ คดีทุจริต ลดลง” นางอาภรณ์ สุมาลัย ผู้อำนวยการส่วนวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานยุทธศาสตร์การศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่อง “บทบาท/หน้าที่/ภารกิจ ผลการทำงานที่ผ่านมาที่เชื่อมโยง /ส่งเสริมให้ประชาชนและมีวัฒนธรรมค่านิยมสุจริต” นายนิมิต รักชาติไทย รองประธานชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต เขตราชเทวี ร่วมแลกเปลี่ยนเรื่อง “การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านการจับตามองและแจ้งเบาะแส (Watch & Voice) ทั้ง 6 กลุ่มโชน เพื่อส่งต่อศูนย์ CDC ของสำนักงาน ป.ป.ช., ให้ความรู้และถ่ายทอดหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปสู่ (ประชาชนและเยาวชน) ในพื้นที่ชุมชน และการพัฒนาศักยภาพ ผู้นำชมรมฯ ระดับเขต ทั้ง 50 เขต (ไม่ทํา ไม่ทน ไม่เฉย) ขยายผลสู่ TaC กทม. (จัดกิจกรรมฯ ระดับเขต จำนวน 25 ครั้ง)”

นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการได้ร่วมกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชน (สมาชิกชมรม) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจป้องกันการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ในเขตพื้นที่มหานคร เพื่อให้เป็นเมืองหลวงที่โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบต่อไป

Related