Contrast
Font
83cca2231c87e9f5287dcc510a4ce30a.jpg

ป.ป.ช. จับมือกรมบัญชีกลาง ลงนาม MOU เพื่อต่อต้านการทุจริต และส่งเสริมธรรมาภิบาล หวังเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 959

17/04/2567

ป.ป.ช. จับมือกรมบัญชีกลาง ลงนาม MOU เพื่อต่อต้านการทุจริต และส่งเสริมธรรมาภิบาล หวังเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ

          วันนี้ (17 เมษายน 2567) สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมธรรมาภิบาล ณ ห้องนนทบุรี 3 ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงาน และ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวมอบนโยบายเกี่ยวกับการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ของสำนักงาน ป.ป.ช.

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561  กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมการป้องกันการทุจริต อีกทั้งกำหนดมาตรการและกลไกที่จำเป็นในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการจัดให้มีกลไกการแจ้งเตือนกรณีพบว่ามีพฤติการณ์ที่ส่อว่าอาจมีการทุจริตในหน่วยงาน รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการป้องกันการทุจริตตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

          ดังนั้น  เพื่อให้เกิดการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมจึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมธรรมาภิบาลระหว่าง  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  กับ  กรมบัญชีกลาง ในฐานะหน่วยงานกำกับนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศ โดยมีเจตนารมณ์ในการบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อลดช่องว่างที่จะก่อให้เกิดการทุจริตทุกรูปแบบเนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเป็นเรื่องของการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชนจึงจำเป็นต้องปกป้องรักษา ป้องกันมิให้เกิดการสูญเสียจากการทุจริตเพราะจะกระทบกับการจัดนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ

          และเพื่อแสดงจุดยืนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและสร้างกลไกสำคัญในการป้องกันการทุจริต ด้วยการเฝ้าระวังการทุจริตโดยการวิเคราะห์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ จึงมอบนโยบายเพื่อต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมธรรมาภิบาล ดังนี้

          1. สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  ให้บรรลุเป้าหมายโดยนำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมบัญชีกลาง มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในมิติของการปราบปรามการทุจริตการป้องกันการทุจริต และการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน

          2. สำนักงาน ป.ป.ช. จะให้ความสำคัญและพิจารณาให้ความเห็นต่อ  “รายงานการสังเกตการณ์”(Notification Report : NR) ที่ถูกรายงานโดยผู้สังเกตการณ์อิสระในโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact : IP) ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการป้องกันการทุจริตสำหรับโครงการที่มีงบประมาณตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

          ทั้งนี้ หากการดำเนินงานการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐใด มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดำเนินการที่อาจนำไปสู่การทุจริต หรือส่อว่าอาจมีการทุจริต คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยสำนักงาน ป.ป.ช. จะได้มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐดังกล่าว  และคณะรัฐมนตรีทราบ พร้อมด้วยข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อป้องกันการทุจริต ซึ่งเป็นไปตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 35  แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ในการระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายเนื่องจากการทุจริตได้อย่างทันท่วงที

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อต่อต้านการทุจริตและส่งเสริมธรรมาภิบาลมีวัตถุประสงค์  ดังนี้

          1. เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาตินโยบายของรัฐ และแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

          2. เพื่อประสานความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้กรอบบันทึกข้อตกลงฉบับนี้

          3. เพื่อประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

          4. เพื่อร่วมดำเนินการในรูปแบบอื่นใดที่อาจเป็นแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในภาครัฐและเอกชน ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. และ กรมบัญชีกลาง เห็นสมควร

Related