Contrast
Font
b3a024ec257e830b8ce9681a7b90fbb1.jpg

“สินบน” มหันตภัยร้าย ผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 3797

18/07/2567

“สินบน” มหันตภัยร้าย ผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ

 

สินบน หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง หรือผลประโยชน์อื่นใด ที่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่น เพื่อจูงใจให้กระทำการหรือละเว้นการกระทำในหน้าที่ ซึ่งขัดต่อกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล

 

สินบน เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายที่กัดกินสังคมไทยมานานแสนนาน เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้า สร้างความอยุติธรรม และบั่นทอนความศรัทธาของประชาชนต่อภาครัฐ

 

สินบน มีหลากหลายรูปแบบ ที่มักจะพบบ่อย เช่น เงินสด สิ่งของมีค่า การเลี้ยงดู การท่องเที่ยว การลดราคา การรับบริการ การรับความบันเทิง การจ้างงาน หุ้นส่วนทางธุรกิจ

 

การติดสินบน เป็นปัญหาการทุจริตที่พบมากในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในการทุจริตระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจในการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริงและกระบวนการที่ไม่โปร่งใส ทั้งนี้การกระทำความผิดฐานให้สินบน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของคดีทุจริตหลาย ๆ ครั้ง ด้วยเช่นกัน

 

ปัญหาเรื่องสินบนนี้ จะก่อให้เกิดผลเสีย โดยทำลายความโปร่งใสและธรรมาภิบาล การให้สินบนทำให้เกิดช่องโหว่ เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ให้สินบน ประชาชนไม่ได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ รวมถึงสินบนยังเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน นักลงทุนสูญเสียความมั่นใจ เศรษฐกิจตกต่ำ

 

การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จึงเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ไขปัญหาสินบนนี้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเข้มงวด จริงจัง ลงโทษผู้ให้และผู้รับสินบนอย่างเด็ดขาด

 

-โทษของ “ผู้รับ” สินบน-

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

มาตรา 173 เจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 4 แสนบาท

 

มาตรา 174 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 4 แสนบาท

 

-โทษของ “ผู้ให้” สินบน-

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

มาตรา 176 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทำการไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ในกรณีผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทำไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่า แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ

 

การแก้ไขปัญหาสินบน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หน่วยงานภาครัฐต้องส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาล มีการเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบได้ ภาคเอกชนตระหนักถึงผลร้ายของสินบน ปฏิเสธการให้ รวมถึงประชาชนต้องมีความตื่นตัว ร่วมรณรงค์ต่อต้านสินบน แจ้งเบาะแส ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ  ร่วมสร้างสังคมไทยให้ปราศจากสินบน เจริญก้าวหน้า และยั่งยืน

Related