Contrast
Font
b77f6e3fd4ecc9cb430bc716dd2124c0.jpg

ป.ป.ช. เผยผล ITA 67 พบ ผ่านเกณฑ์ 7,696 หน่วยงาน ชื่นชม หน่วยงานรัฐมีส่วนร่วมขับเคลื่อนต้านทุจริตมากขึ้น

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 342

08/08/2567

ป.ป.ช. เผยผล ITA 67 พบ ผ่านเกณฑ์ 7,696 หน่วยงาน ชื่นชม หน่วยงานรัฐมีส่วนร่วมขับเคลื่อนต้านทุจริตมากขึ้น

 

สำนักงาน ป.ป.ช. เผยผลการประเมิน ITA ปี 2567 ภายใต้แนวคิด Transparency with Quality: โปร่งใสอย่างมีคุณภาพ โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. และผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เข้าร่วม พบหน่วยงานผ่านเกณฑ์ 7,696 หน่วยงาน จากจำนวน 8,325 หน่วยงาน และหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ได้ 93.05 คะแนน เผยทิศทางดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เชื่อหน่วยงานภาครัฐมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น พร้อมมีส่วนร่วมป้องกันการทุจริตและการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ

                                                                                                                                   
            พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ  ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบมาอย่างต่อเนื่องซึ่งหลักการดำเนินงาน ของ ป.ป.ช. ในปัจจุบันมุ่งใช้วิธี “ป้องนำปราบ” ซึ่งการประเมิน ITA คือ เครื่องมือสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นการป้องกันการทุจริต และการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้เป็นไปตามที่กฎหมาย ยุทธศาสตร์หรือแผนระดับต่าง ๆ ได้กำหนดไว้ อันจะนำไปสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล และลดโอกาสการทุจริตและประพฤติมิชอบให้น้อยลง ดังนั้น การประเมิน ITA จึงไม่ใช่เครื่องมือการประเมินที่มีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายหลักเพื่อวัดความถี่หรือระดับ  พฤติกรรมการทุจริตเป็นหลัก แต่เป็นเครื่องมือที่มุ่งเน้นการวัดผลการบริหารจัดการองค์กร และการดำเนินโครงการ/กิจกรรมด้านการป้องกันการทุจริต เพื่อที่จะกระตุ้นและส่งเสริมให้หน่วยงานได้มีการตรวจสอบ ทบทวน และพัฒนาการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายได้

 

ในปีงบประมาณ 2567 นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้มีการปรับปรุงเครื่องมือการประเมิน ITA ในบางเกณฑ์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดเรื่อง “สินบน” อาทิ การปรับขนาดกลุ่มตัวอย่างขั้นต่ำของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) และขนาดกลุ่มตัวอย่างขั้นต่ำของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การปรับเปลี่ยนแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (แบบวัด EIT) รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนแบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (แบบวัด OIT) โดยได้ยกระดับการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น และมุ่งเน้นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสินบนเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

 

สำหรับผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่มีคะแนนผลการประเมินสูงสุดในแต่ละกลุ่มหน่วยงาน มีดังต่อไปนี้

กลุ่มหน่วยงานของศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานในรัฐสภา ได้แก่ สำนักงานศาลปกครอง ได้คะแนน 97.62 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดี”

กลุ่มส่วนราชการระดับกรม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้คะแนน 99.31 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

กลุ่มรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ได้คะแนน 98.96 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

กลุ่มองค์การมหาชน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้คะแนน 97.02 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดี”

กลุ่มหน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้คะแนน 97.27 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

กลุ่มกองทุน ได้แก่ กองทุนยุติธรรมได้คะแนน 94.54 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่าน”

กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้คะแนน 98.70 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดี”

กลุ่มราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด) ได้แก่ จังหวัดแพร่ ได้คะแนน 100 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

กลุ่มองค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้คะแนน 99.73 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

กลุ่มเทศบาลนคร ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้คะแนน 99.47 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

กลุ่มเทศบาลเมือง ได้แก่ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ได้คะแนน 99.67 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

กลุ่มเทศบาลตำบล ได้แก่ เทศบาลตำบลโคกสูงสัมพันธ์ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น, เทศบาลตำบลสามขา อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด และเทศบาลตำบลเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้คะแนนเท่ากันที่ 100 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

องค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และองค์การบริหารส่วนตำบลเอราวัณ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้คะแนนเท่ากันที่ 100 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

 

สำนักงาน ป.ป.ช.เล็งเห็นว่า การประเมิน ITA เป็นอีกด้านหนึ่งหรือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริตด้วยวิธีการส่งเสริมให้  หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานป้องกันการทุจริต โดยเป็นการดำเนินงานคู่ขนานกันไปกับมิติด้านการปราบปรามการทุจริตและมิติด้านการเสริมสร้างทัศนคติ  ค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตในสังคมไทยเกิดผลสัมฤทธิ์และเกิดความยั่งยืน

Related