Contrast
Font
372ecdbdb4ed620e9a647de99af2d7b9.jpg

ป.ป.ช. เช็คบิล ส่วยรถบรรทุก พร้อมแนะ มาตรการลดเสี่ยงทุจริต

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 186

18/09/2567

ป.ป.ช. เช็คบิล ส่วยรถบรรทุก พร้อมแนะ มาตรการลดเสี่ยงทุจริต

 

จากกรณี สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทลายเครือข่าย “เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับส่วยรถบรรทุก” เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 11 จุด ทั่วประเทศ เพื่อกวาดล้างจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 จำนวน 3 หมายจับ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ชัยภูมิ จ.เพชรบูรณ์ จ.นครปฐม จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร พบ ผู้กระทำผิด เป็นพลเรือนหน้าเสื่อ เตรียมสาวต่อ ให้ถึงตัวผู้บงการ ด้าน ป.ป.ช. แนะ มาตรการลดเสี่ยงทุจริตส่วยรถบรรทุก ย้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำไปปรับใช้เป็นรูปธรรม และหากพบเจ้าหน้าที่รัฐมีเอี่ยวกระทำผิด ป.ป.ช. เอาจริง ทั้งเสี่ยงคุก ทั้งออกจากราชการ

 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการรถบบรรทุกยื่นร้องเรียน กรณีถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงกับพวก เรียกเก็บส่วย รถเครน และรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เมื่อปี 2566 โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนพบข้อมูลสำคัญว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เป็นเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ (สคน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกรมทางหลวง ที่มีหน้าที่ตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่วิ่งบนทางหลวง แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่ในการเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ เรียกเก็บเงินส่วยรายเดือนจากผู้ประกอบการเพื่อแลกกับการไม่จับกุมดำเนินคดี โดยมีนายธงชัย ที่เป็นพลเรือน ทำหน้าที่เจรจาเรียกรับเงินแทน หากผู้ประกอบการรายใดไม่ทำตามก็จะถูกกวดขันจับกุมอย่างหนักจนกระทบต่อกิจการ โดยทำเช่นนี้มานานหลายปี ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2562 - 2563 มีผู้เสียหายรวมมากกว่า 30 ราย คิดเป็นเงินสินบนกว่า 120 ล้านบาท หรือประมาณ 1,400,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งเงินที่ได้มาจะถูกโอนไปยังบัญชีม้าของนายประทิน ก่อนจะถูกโอนถ่ายไปยังกลุ่มเจ้าหน้าที่หัวหน้าขบวนการตามลำดับ จึงเป็นเหตุให้มีการติดตามจับกุม

 

ทั้งนี้ ในเรื่องของการติดตาม ควบคุม และลดปัญหาการทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เป็นเรื่องที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เสนอมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เพื่อเป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหา  โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตดังกล่าว ตามที่ ป.ป.ช.เสนอ และกำหนดให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลัก รับข้อเสนอแนะนำไปดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 2.พิจารณาการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MoU) ในการควบคุม กำกับ ดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ 3.จัดให้มีการประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย 4.ให้มีการออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง โดยเครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ การควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางให้เป็นไปตาม ที่กฎหมายกำหนด และรถบรรทุกต้องจัดให้มีป้ายแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่งด้วย พร้อมทั้งสร้างช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิด 5. ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High-speed weigh-in-motion: HSWIV) และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้งใต้สะพาน (Bridge weigh-in-motion: BVIM) มาใช้ในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อลดปฏิสัมพันธ์และการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการชั่งน้ำหนัก 6. มาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต

 

จากการติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้น พบว่า กรมทางหลวงได้จัดทำ MoU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับรถบรรทุกที่กระทำผิดอย่างเข้มงวด นำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทได้มีการนำระบบเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High-speed weigh-in-motion: HSWIV) และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้งใต้สะพาน (Bridge weigh-in-motion: BVIM) มาใช้แล้ว แต่ยังขาดการรับรองเครื่องชั่งน้ำหนักจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัดเพื่อให้สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ โดยกระทรวงคมนาคมได้มีแนวทางในการพิจารณารายละเอียดการบันทึกน้ำหนักโดยเครื่องชั่งน้ำหนักขณะรถเคลื่อนที่ หรือ WIM ทุกรูปแบบ และรูปถ่ายจากกล้อง CCTV เพื่อให้สามารถเป็นเครื่องมือตรวจจับได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานที่ร่วมแก้ปัญหาทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ควรมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการติดตามตรวจสอบ เพราะนอกจากจะมีความแม่นยำแล้ว ยังช่วยลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะเป็นการปิดช่องโหว่ของการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ จากการจับกุมขบวนการส่วยรถบรรทุกในครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะได้เร่งรัดประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการนำมาตรการป้องกันการทุจริตส่วยรถบรรทุก ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง นำไปใช้อย่างจริงจัง และจะพิจารณาจัดทำข้อเสนอและการเฝ้าระวังที่เข้มข้นขึ้น เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำทุจริตในเรื่องดังกล่าวอีกต่อไป

Related