จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 580
ม. 128 กฎหมายควบคุมพฤติกรรมเจ้าพนักงานของรัฐ
เจ้าพนักงานของรัฐ เป็นอาชีพที่มีหลักการพื้นฐาน คือ บริการ ประชาชน โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยปกติจะได้รับค่าตอบแทน (Compensation) ที่รัฐจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งอาจอยู่ในรูปตัวเงินหรือมิใช่ตัวเงิน เช่น เงินเดือนพื้นฐาน (Base Salary) ค่าตอบแทนลักษณะอื่น ๆ (Allowance) สวัสดิการ และประโยชน์เกื้อกูล (Benefit/Fringe Benefit) หรือบางหน่วยงานอาจได้รับเงินรางวัล ประจำปี (Bonus) ซึ่งการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้น เจ้าพนักงานของรัฐมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะรับได้ เพราะเป็นการรับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เจ้าพนักงานของรัฐสามารถรับได้
ในระบบราชการไทย การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรับในรูปแบบ “สินน้ำใจ” หรือ “สินบน” ซึ่งก็เป็นพฤติกรรมทุจริตที่ปฏิบัติกันมายาวนาน และเมื่อรับกันมาแล้วย่อมส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐ จึงอาจทำให้เกิดความเอนเอียงไม่เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายที่กำหนดเป็นประตูนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชัน ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณของประเทศที่ต้องสูญเสียไป ความไว้วางใจของคนในสังคม ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศ
พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า
“สินน้ำใจ” คือ เงินหรือทรัพย์ที่ให้เป็นรางวัล
“สินบน” คือ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคล เพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นชอบหรือมิชอบด้านหน้าที่
สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ได้สร้างกลไกในการป้องกันและปราบปาม มุ่งหวังที่จะควบคุมพฤติกรรม “เจ้าพนักงานของรัฐ” ในการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในขณะที่ยังเป็นเจ้าพนักงานของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐแล้วยังไม่ถึงสองปี จึงได้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกระทำความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
มาตรา 128 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
ซึ่งเป็นบทบัญญัติห้ามไม่ให้เจ้าพนักงานของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้เพื่อไม่ให้การรับทรัพย์สินดังกล่าวจากบุคคลในโอกาสต่าง ๆ มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งยังห้ามพนักงานของรัฐทุกตำแหน่ง และผู้ที่พ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี ห้ามรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ หมายถึง สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
ถึงแม้จะมีข้อห้าม แต่ก็มีข้อยกเว้น ซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐสามาถรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ได้ในกรณีดังนี้
(1) เป็นการรับที่มีกฎหมายอนุญาตให้รับได้ เช่น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยเลี้ยงไปราชการ เงินปันผลสหกรณ์
(2) เป็นการรับจากบุพาการี ผู้สืบสันดาน หรือญาติ โดยจะต้องเป็นการให้ตามประเพณี หรือตามธรรมจรรยาตามฐานะของผู้ให้
(3) การรับโดยธรรมจรรยา คือ การับจากบุคคลที่ให้กันในโอกาสเทศกาลหรือวันสำคัญ รวมถึงการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ตามมารยาทที่ถือปฏิบัติในสังคม ซึ่งสามารถแบ่งตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
3.1 เป็นการรับจากการให้แก่บุคคลทั่วไป โดยไม่เจาะจงผู้รับ เช่น การจับสลาก
3.2 เป็นการรับจากผู้ซึ่งมิใช่ญาติที่มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท หากมีการรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท โดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับไว้เพื่อเป็นการรักษาไมตรีมิตรภาพ หรือความสัมพันธ์อันดี จะต้องดำเนินการแจ้งรายละเอียดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับทรัพย์สินต่อผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนแล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณา หากมีคำวินิจฉัยว่าให้ส่งคืนทรัพย์สิน ต้องส่งคืนโดยทันที หรือหากไม่สามารถคืนได้ ให้ส่งมอบเป็นสิทธิของหน่วยงานโดยเร็ว
โดยหากเจ้าพนักงานของรัฐมีการกระทำที่ฝ่าฝืนในมาตรา 128 มีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ