จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 2144
ป.ป.ช. เผยประเด็นความเสี่ยงทุจริตจัดจ้างบัญชีนวัตกรรม
สำนักงาน ป.ป.ช. เผยประเด็นช่องโหว่ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทย พร้อมผลักดันสร้างความโปร่งใส เพื่อให้เกิดการนำงานวิจัยภาครัฐไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพย์สินของรัฐอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมปิดช่องโหว่ป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายในการสนับสนุนการคิดค้นงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ จึงเปิดกว้างให้มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการในบัญชีนวัตกรรมขึ้น และสามารถจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษได้แม้จะมีวงเงินสูงก็ถือว่าสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบ แต่ก็ได้กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต และมีประเด็นร้องมาที่สำนักงาน ป.ป.ช.หลายกรณี อาทิ โครงการเสาไฟกินรี หรือโครงการโกงกางเทียม ฯลฯ
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากบัญชีนวัตกรรมอย่างแท้จริง และลดความเสี่ยงทุจริต สำนักงานป.ป.ช. จึงได้มีการเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตในการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ และบริการ โดยอ้างอิงตามประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นช่องโหว่ทุจริต ประกอบด้วย 1.ประเด็นคำนิยามนวัตกรรมไทยไม่มีความชัดเจน เสนอให้มีการกำหนดแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยให้มีความแตกต่างกันตามระดับนวัตกรรมไทย ซึ่งอาจจำแนกระดับนวัตกรรมไทยออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับที่ 1 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และระดับที่ 2 นวัตกรรมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย และในการจำแนกระดับนวัตกรรมไทยควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาที่ชัดเจน และควรมีการพิจารณาให้ครอบคลุมถึงความเหมาะสมในประเด็นต่าง ๆ เช่น ความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยตลอดจนการมีหลักฐานปรากฏเป็นผลงานวิจัยของคนไทย การอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือการได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีของคนไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ได้รับประโยชน์ทางตรงคือประเทศไทย เป็นต้น 2.ประเด็นผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากภาครัฐ แนะนำให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยให้ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น โดยให้มีการกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ความร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นต้น 3.ประเด็นคุณสมบัติของผู้ขายผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ เสนอแนะให้มีการกำหนดแนวทางในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้จำหน่ายและผู้แทนจำหน่ายให้มีคุณสมบัติสอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคากับหน่วยงานของรัฐก่อนประกาศขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย เช่น การเป็นผู้มีความสามารถตามกฎหมาย การไม่เป็นบุคคลซึ่งถูกระบุชื่อไว้ในบัญชีรายชื่อผู้ทิ้งงาน การไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน การเป็นผู้มีอาชีพนั้นโดยตรง เป็นต้น 4.ประเด็นผู้ประกอบการ ไม่แสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทย เสนอแนะให้มีการกำหนดแนวทางในการให้สิทธิพิเศษแก่ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยเพิ่มเติม เช่น การกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโครงสร้างราคาต้นทุนของผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยโดยมีสำนักงบประมาณเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความลับข้อมูล 5.ประเด็นระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยมีการกำหนดชื่อและรหัสผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยไม่ตรงกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีข้อเสนอแนะให้มีการกำหนดแนวทางในการปรับปรุงฐานข้อมูลในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยของสำนักงบประมาณให้มีชื่อและรหัสตรงกับชื่อและรหัสสินค้าหรือบริการในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง และในระยะยาวอาจพิจารณาจัดทำหมวดรายการผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยในระบบสืบค้นบัญชีนวัตกรรมไทยใหเป็นรหัสมาตรฐานสากล (UNSPSC) 6.ประเด็นภาครัฐขาดการติดตามและประเมินผลการจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยที่มีประสิทธิภาพ เห็นควรให้มีการกำหนดแนวทางในการติดตามและประเมินผลการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมในบัญชีนวัตกรรมไทยให้มีความชัดเจน โดยการเชื่อมโยงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมกับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement: e-GP) ของกรมบัญชีกลาง แนวทางในการติดตามและประเมินผลเมื่อหน่วยงานของรัฐมีเหตุผล และความจำเป็นที่ไม่สามารถจัดซื้อพัสดุส่งเสริมนวัตกรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ 7.ประเด็นภาครัฐขาดการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงาน เสนอให้มีการกำหนดแนวทางในการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีความประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมไทยถือปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน