Contrast
Font
92455d5dce540e9fe84d1fa5167c27d8.jpg

ป.ป.ช. เผย แนวทางป้องกันสินบน ดึงแนวร่วมภาคเอกชนออกมาตรการควบคุมภายใน

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 523

23/09/2567

ป.ป.ช. เผย แนวทางป้องกันสินบน ดึงแนวร่วมภาคเอกชนออกมาตรการควบคุมภายใน

 

สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเสริมภาคธุรกิจวางแนวทางป้องกันการให้สินบน โดยนำ 8 แนวทางสกัดกั้นปัญหาการให้สินบนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ มุ่งให้เกิดการนำมาใช้เป็นรูปธรรม ลดเสี่ยงผิดกฎหมาย พร้อมย้ำ เอกชนหยุดจ่าย เท่ากับหยุดต่อท่อน้ำเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่ทุจริต

 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เพราะภาคธุรกิจมีความจำเป็นต้องผลักดันการทำงานให้มีความราบรื่น และรวดเร็ว จึงเป็นเหตุให้หลาย ๆ องค์กรยินดีที่จะจ่ายสินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ที่ผ่านจากสถิติของคดีสินบนของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเป็นองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีการรวมกลุ่มกันของประเทศต่าง ๆ กว่า 38 ประเทศพบว่า สินบนส่วนใหญ่มาจากการจ่ายเพื่อให้ได้เป็นคู่สัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ นอกนั้นเป็นปัญหาสินบนที่เกิดจากการให้ผ่านพิธีการศุลกากร การให้ได้รับใบอนุญาตหรือการอนุญาต สัมปทาน เป็นต้น ซึ่งปัญหาสินบนเหล่านี้ก่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าและธุรกิจที่ไม่เท่าเทียม เป็นธรรม และยังส่งผลกระทบกับชื่อเสียงของประเทศ

 

สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนและนิติบุคคลจัดทำมาตรการกำกับดูภายในองค์กร เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความโปร่งใส สกัดกั้นปัญหาการให้สินบนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบด้วยแนวทาง 8 ข้อในการเสริมสร้างธุรกิจให้โปร่งใสไร้สินบน เพื่อการต่อต้านการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ คือ

  1. การป้องกันการให้สินบนต้องเป็นนโยบายสำคัญจากระดับบริหารสูงสุด เช่น คณะกรรมการบริษัท CEO หรือเจ้าของกิจการ มีบทบาทสำคัญที่จะก่อให้เกิดวัฒนธรรมกายในองค์กร หรือ "Tone from the Top" ผู้ที่อยู่ในระดับบริหารสูงสุดจึงควรแสดงเจตมารมณ์ที่ชัดเจนในการต่อต้านการให้สินบน รวมทั้งกำหนดนโยบายและสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการให้สินบนขององค์กร
  2. นิติบุคคลต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ เพราะนิติบุคคลมีโอกาสที่จะต้องเกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานของรัฐมากน้อยต่างกัน ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐจะช่วยให้สามารถออกแบบมาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการให้สินบนที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจของตน
  3. มาตรการเกี่ยวกับกรณีมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบนต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน อย่างเช่นกรณีการให้ของขวัญ การเลี้ยงรับรอง และการบริจาคอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปสู่การให้สินบนเจ้าพนักงานของรัฐ ดังนั้น นิติบุคคลควรมีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุมัติและการควบคุมตรวจสอบอย่างรัดกุม รวมทั้งมีการอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
  4. นิติบุคคลต้องนำมาตรการป้องกันการให้สินบนไปปรับใช้กับผู้มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับนิติบุคคล เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดจากการให้สินบนของผู้ที่มีความเกี่ยวของทางธุรกิจ เช่น บริษัทคู่ค้า รวมถึงการตรวจสอบสถานะ หรือข้อตกลงในสัญญาการต่อต้านการให้สินบน ไม่มีบันทึกรายการนอกบัญชี เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการปกปิดสถานะทางบัญชีที่เกี่ยวกับเงินสินบน
  5. นิติบุคคลต้องมีระบบบัญชีที่ดี
  6. นิติบุคคลต้องมีแนวทางบริหารทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการให้สินบน
  7. นิติบุคคลต้องมีมาตรการสนับสนุนให้มีการรายงานการกระทำความผิดหรือกรณีมีเหตุน่าสงสัย
  8. นิติบุคคลต้องทบทวนตรวจสอบและประเมินผลมาตรการป้องกันการให้สินบนเป็นระยะ

           

ทั้งนี้ ตามมาตรา 176 ของ พรบ.ป.ป.ช. ไม่ได้กำหนดให้นิติบุคคลต้องรับผิดเด็ดขาดทุกกรณี โดยหากนิติบุคคลมีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการให้สินบน นิติบุคคลจะไม่มีความผิด ตามมาตรานี้ ทั้งนี้ กฎหมายยังกำหนดโทษสำหรับ “ผู้ให้สินบน” คือ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสำหรับ “นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน” คือ ปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากองค์กรธุรกิจได้มีความพยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกันการให้สินบนแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ให้สินบน กฎหมายก็มีข้อยกเว้นให้ไม่ต้องรับโทษด้วยเช่นกัน

Related