Contrast
Font
641d30d5a6c6992dc12ab0dfa0992b69.jpg

ป.ป.ช. จัดกิจกรรมเสริมสร้างกระบวนการดำเนินงานให้กับภาคประชาชนในจังหวัดสระบุรีและนครนายก

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 32

20/05/2568

ป.ป.ช. จัดกิจกรรมเสริมสร้างกระบวนการดำเนินงานให้กับภาคประชาชนในจังหวัดสระบุรีและนครนายก

 

ระหว่างวันที่ 19 –20 พฤษภาคม 2568 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต จัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อต้านและลดทุจริตในพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 4 (จังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครนายก)

 

วัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ไขปัญหาและการกำหนดแนวทางเฝ้าระวังการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อนำปัญหาการทุจริตหรือประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตตามฐานข้อมูลของสำนักงาน ป.ป.ช.  มาพัฒนาสู่การป้องกันการทุจริตตามกระบวนการของสำนักงาน ป.ป.ช. อาทิ หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา มาตรการป้องกันการทุจริต การเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจน ผลงานทางวิชาการเพื่อพัฒนากระบวนการต้านและลดการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยของการทุจริต และส่งเสริมให้ประชาชนประสงค์จะเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต

 

โดยมี นายดุรงค์ฤทธิ์ ศิริวัฒนพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม และนางวริดา ตันบุญเอก ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย ณ โรงแรม ศุภาลัย ป่าสักรีสอร์ท แอนด์ สปา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

 

จากสถานการณ์การทุจริตในภาพรวมของคำกล่าวหาที่เข้ามายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 9,254 เรื่อง ซึ่งมาจากหลากหลายช่องทาง ได้แก่ หนังสือร้องเรียน หนังสือราชการ การร้องเรียนด้วยวาจา เหตุอันควรสงสัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. บัตรสนเท่ห์ เว็บไซต์ แจ้งเบาะแส และคำกล่าวหาที่ไม่ปรากฏชื่อ และตำแหน่งของผู้ถูกร้อง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับไว้ดำเนินการเอง จำนวน 3,868 เรื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต ที่กลุ่มเครือข่ายของสำนักงาน ป.ป.ช. และประชาชนทั่วไป ไว้วางใจ และเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบของสำนักงาน ป.ป.ช. จึงกล้าที่จะร้องเรียน แจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ป.ป.ช. หน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากที่สุด ได้แก่ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รองลงมาเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นส่วนราชการอื่น ๆ และเมื่อพิจารณาคำกล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่าคำกล่าวหาใน 2 อันดับแรก เป็นประเภทการจัดซื้อจัดจ้าง และประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามหน้าที่ กระทำการเกินอำนาจหน้าที่โดยทุจริต และอนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ เป็นต้น

 

สำหรับการดำเนินโครงการ TaC สำนักงาน ป.ป.ช. มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีเป้าหมายในการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ได้แนวทางต้านและลดทุจริตระหว่างภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามประเด็นความเสี่ยง ซึ่งมีประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตที่สำคัญที่พบได้มากที่สุด ได้แก่ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตระหนักและมุ่งให้ความสำคัญแนวทางต้านและลดทุจริตตามประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตที่สำคัญ จึงได้จัดกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อต้านและลดทุจริตในพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 4 (จังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครนายก) ครั้งนี้ขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครนายก รวม 110 คน ซึ่งเป็นผู้แทนของภาคประชาชนในพื้นที่ที่จะมีบทบาทสำคัญในการเข้าร่วมและขับเคลื่อนภารกิจในด้านนี้ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้มอบหมายผู้แทน ทั้งนี้ ภายในกิจกรรมมีการอภิปรายในหัวข้อประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

- อภิปรายหัวข้อ กลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างแนวทางต้านและลดทุจริต ด้วยกลไกสหยุทธ์ ในประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

- การอภิปราย หัวข้อ “บทบาทของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างการมีส่วนร่วมเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนกลไกสหยุทธ์ในการลดความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ต่อด้วย เป็นการอภิปรายและแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ (4 กลุ่ม) หัวข้อ “การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างแนวทางต้านและลดทุจริตของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างการมีส่วนร่วมเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนกลไกสหยุทธ์ในการลดความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครนายก”

จากนั้นเป็นการอภิปรายและแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ (4 กลุ่ม) หัวข้อ “การสรุปผลการถอดบทเรียนกิจกรรมและการนำเสนอแนวทางต้านและลดทุจริตของเครือข่ายภาคประชาชนในการสร้างการมีส่วนร่วมเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนกลไกสหยุทธ์ในการลดความเสี่ยงต่อการทุจริตด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรีและจังหวัดนครนายกและการริเริ่มกิจกรรมในพื้นที่ปฏิบัติการนำร่อง ”

 

สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการดำเนินโครงการมุ่งให้ความสำคัญที่จะสร้างแนวทางต้านและลดทุจริตตามประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตที่สำคัญและต้องได้รับการขับเคลื่อนเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงในภาพรวมที่มีผลครอบคลุมทั้งประเทศ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโดยตรงและเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเพิ่มกระบวนการเชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนกระบวนการดำเนินการของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

Related