จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1518
ป.ป.ช. ร่วมกับ ตำรวจสอบสวนกลาง และ ป.ป.ท. รวบเจ้าพนักงานเขตราชเทวี เรียกรับผลประโยชน์ 3.2 ล้านบาท
วันที่ 4 เมษายน 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., นายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติปานแก้ว ผบก.ปปป., พ.ต.อ.อภิชาติ โพธิจันทร์ รอง ผบก.ปปป., พ.ต.อ.ธนวัฒน์ หิ้นยกฮิ่น ผกก.1 บก.ปปป. พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. นำโดย นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท., พ.ต.ท.สิริพงษ์ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2, นายสุภาพ ศิริ ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต, พ.ต.ต.จักรกฤษณ์ ประจันพล ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการด้านคุ้มครองพยาน และเจ้าหน้าที่ป.ป.ง. นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ง., นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ง., นายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 และ นายภัทระ หลักทอง ผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
ร่วมกันจับกุม นายประมวลฯ อายุ 57 ปี ดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” มาตรา 157 ณ ลานจอดรถ โรงแรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย กรณี เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตราชเทวี ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ บริษัทฯ เข้าไปชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน
พฤติการณ์ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต แจ้งให้ บริษัทฯ เข้าไปชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามแบบ(ภ.ร.ด.2) และผู้เสียหายได้มอบหมายให้ ตัวแทนซึ่งเป็นพนักงานของ บริษัทฯ เข้าไปติดต่อและต่อมาตัวแทนของผู้เสียหายได้กลับมาแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ได้บอกว่า บริษัทฯ จะต้องชำระค่าภาษี ประมาณ 40 กว่าล้านบาท
แต่หากนำเอาเงินมาให้ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตราชเทวี รายดังกล่าว จำนวน 3 ล้านบาท จะเก็บเรื่องดังกล่าวไว้ทำให้ บริษัทฯ ไม่ต้องชำระเงินจำนวน 40 กว่าล้านบาท”
จากนั้นบริษัทฯ ได้ให้ตัวแทนติดต่อแจ้งว่ายอดภาษีที่แจ้งมานั้นมีจำนวนสูงเกินจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตได้ตอบว่าเงินที่เคยเสนอไปจำนวน 3 ล้านบาท ขอเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 3,5000,000 บาท เพราะต้องเอาไปแบ่งกรรมการอีกหลายท่าน ต่อมาผู้เสียหายแจ้งว่า จะนำพนักงานบัญชีของบริษัทฯไปขอทราบรายละเอียด ก็ได้คำตอบว่า สามารถลดราคาลงได้เหลือ 3,2000,000 บาท ผู้ร้องเรียนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตราชเทวีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จงใจเรียกรับเงินเพื่อไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ไม่เก็บภาษีเข้ารัฐฯ จึงมาร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบ และในขณะที่ผู้เสียหายได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนอยู่นั้น ตัวแทนของผู้เสียหายได้โทรศัพท์เข้ามาหาและแจ้งว่าได้นัดหมายกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตราชเทวีคนดังกล่าว เพื่อให้เข้ามาพบผู้เสียหายในวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมฯ เพื่อรับฟังรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่สำนักเขตด้วยตนเอง
กระทั่ง วันที่ 31 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป.พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ประสานและวางแผนการจับกุมร่วมกับผู้เสียหายเพื่อกำหนดแนวทางและรวบข้อมูลพยานหลักฐาน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตได้ขับรถมาที่โรงแรมฯ เพื่อพบตัวแทนผู้เสียหายเพื่อขึ้นไปพบกับผู้เสียหาย โดยทั้งสองได้พูดคุยเพื่อเจรจาต่อรองกัน สรุปได้ว่าผู้เสียหายต้องจ่ายเงินทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน3,2000,000 บาท พร้อมทั้งนัดหมายส่งมอบเงินให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตในวันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา14.00 น.
ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป.พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ผู้เสียหายนำเงินสดจำนวนทั้งสิ้น 3,2000,000 บาท มาลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ กก.1 บก.ปปป. เพื่อเป็นพยานหลักฐาน
ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ร่วมกันวางแผนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้ ผู้เสียหายนำเงินสดซึ่งลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว นำมามอบให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ที่ โรงแรมฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ฯ เฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบ
เมื่อผู้ต้องหาได้เดินทางมาถึงโรงแรมฯ ที่เกิดเหตุได้ใช้รถยนต์ราชการของสำนักงานเขตราชเทวีทะเบียน 2 กพ6108 กทม และเมื่อผู้เสียหายได้ส่งมอบเงินแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตกำลังเดินทางกลับ เมื่อถึงบริเวณลานจอดรถโรงแรมฯ เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานเพื่อเข้าทำการตรวจค้น ขณะทำการตรวจค้น พบว่ามีเงินสดจำนวน 3,2000,000 บาท อยู่ภายในถุงกระดาษสีขาว ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ถือติดตัวมาด้วย เจ้าหน้าที่ฯ จึงทำการตรวจสอบเงินสดต่อหน้าผู้ต้องหา พบว่าหมายเลขธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ลงบันทึกประจำวันไว้ จึงได้แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ นำส่ง พงส.กก.1 บก.ปปป. โดย พงส. บก.ปปป. จะได้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามผู้ต้องหา ให้การปฏิเสธตลอดในข้อกล่าวหา โดยให้การว่าสิ่งของที่รับมาจากผู้เสียหายนั้นตนคิดว่าเป็นเอกสารแต่รับว่ารับสิ่งของดังกล่าวมาจากผู้เสียหายจริง
จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน
..........................................................
“ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด”