Contrast
Font
a342b7dd1444f9f5d499154bb994ad24.jpg

ปลุกใจรักษ์-ปลูกฝังแนวคิด “ต้านทุจริต” เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 307

04/05/2566

          ทุกวันนี้ทรัพยากรป่าไม้ของไทย ลดน้อยลงไปมาก โดยในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ เหลืออยู่เพียง 102,212,434.37 ไร่ หรือร้อยละ 31.59 ของพื้นที่ประเทศ ในขณะที่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) กําหนดให้ประเทศไทยควรมีพื้นที่ป่าไม้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หรือเท่ากับ 129,411,479.86 ไร่ ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่ทรัพยากรป่าไม้ถูกบุกรุกทำลาย ทั้งตัด ถาง รวมถึงการออกเอกสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจซ่อนเร้นด้วยการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือ เจ้าหน้าที่ราชการละเลย เพิกเฉย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน ภาพสะท้อนของการทุจริตทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางทรัพยากรป่าไม้ไทย รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          อีกหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกรุกล้ำจากฝีมือมนุษย์ นั่นคือ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยล่าสุดในปี 2565 จากการประเมินความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทางทะเล ไทยมีค่าดัชนีคุณภาพมหาสมุทร (Ocean Health Index: OHI) ที่ 69 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 71 คะแนน ทำให้ไทยบรรจุวาระนี้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566 - 2580) ซึ่งกำหนดให้ปี 2566 – 2570 ควรมีดัชนีคุณภาพมหาสมุทร ไม่น้อยกว่า 75 คะแนน โดยการสร้างการเติบโตของประเทศจากกิจกรรมทางทะเลที่หลากหลายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการดูแลฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งหมด โดยมุ่งเน้นการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องทะเลที่ถูกต้อง พัฒนากลไกคุ้มครองสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และมีแผน ในการกำหนดวิธีการจัดการในแต่ละพื้นที่ที่สำคัญทั่วประเทศ เพื่อลดพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รวมถึง การทำประมงที่คำนึงถึงความสมดุลของฐานทรัพยากรและความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศ โดยเฉพาะปัญหาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องป้องกันและแก้ไข โดยสหประชาชาติได้บรรจุเป็นวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ค.ศ. 2030 โดยกำหนดเป็นเป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          ภาวะวิกฤตของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไทยในปัจจุบันน่าเป็นห่วงและกำลังค่อย ๆ ร่อยหรอลงไปทุกทีจากการใช้ประโยชน์อย่างไม่รู้คุณค่า ดังเช่น การสร้างโรงแรมรีสอร์ทรุกพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล การสร้างถนนเลียบชายฝั่ง การสูบน้ำบาดาล การทำประมงผิดกฎหมายและการท่องเที่ยวทางทะเลแบบไร้จิตสำนึก แน่นอนว่าหนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดการรุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ ทะเลและชายฝั่ง ส่วนหนึ่งมาจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และแน่นอนว่าอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการและประชาชนเองที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ซึ่งการเดินหน้าป้องปรามที่มีประสิทธิภาพในเรื่องนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงให้ความสำคัญมากที่จะต้องดำเนินการโดยใช้กลไกหล่อหลอมทัศนคติเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่วัยเด็กและเยาวชนผ่านการศึกษาด้วย     “หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา” ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดของคน เสมือนการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ต้านทุจริตในวันเด็กให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

          “ต้านทุจริตศึกษา” เป็นหลักสูตรทันสมัยที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ละเมิดการใช้ทรัพยากรป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ช ได้ออกแบบให้ผู้เรียนในทุกระดับชั้นได้เกิดความตระหนักรู้และร่วมกันพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนโดยประยุกต์ใช้  STRONG Model ในการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร โดยกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรนี้เริ่มตั้งแต่กลุ่มการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาอุดมศึกษา ทหารและตำรวจ โค้ช วิทยากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมถึงประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

          ในหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความตระหนักรู้ถึงการอนุรักษ์และแยกแยะประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมในการใช้ทรัพยากรป่าไม้ ส่วนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ส่งเสริมให้เรียนรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้เกิดความหวงแหน อีกทั้งปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต แยกแยะประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมได้ มีความละอายและไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรนี้ จะเป็นองค์ความรู้สำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ดีจนนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการสงวน รักษา ฟื้นฟู พัฒนา และใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน

          นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า หลักสูตรทุจริตศึกษาเหมือนการสร้างภูมิคุ้มกัน เริ่มตั้งแต่เด็กอนุบาล โดยนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝัง และสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตให้แก่นักเรียน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้เรียนด้วยการยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้เรียนมีจิตพอเพียงต้านทุจริต ละอายและเกรงกลัวที่จะไม่ทุจริตและไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบของการให้ความรู้ ปลูกฝัง  สร้างคน ซึ่งมีการพัฒนาหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย

“ป.ป.ช. ใช้มาตรการ “ป้องนำปราบ” เป็นการแก้ไขต้นเหตุอย่างจริงจัง หากใช้การปราบปรามอย่างเดียวจะไม่มีวันสิ้นสุด ปราบคนนี้ไป ก็มีคนใหม่เกิดขึ้นมา ดังนั้นจึงใช้การป้องกันด้วยการปลูกฝังวิธีคิด ให้เด็กเข้าใจ รู้จัก คิด วิเคราะห์ แยกแยะ เช่น การบุกรุกอุทยานมาสร้างรีสอร์ท เอาป่าชายเลน มาสร้างโรงแรม เราจะเข้าไปพักหรือไม่ เป็นวิธีการตัดสินใจของคน”

          ทั้ง 2 หลักสูตร คาดหวังให้ผู้เรียนหรือผู้เข้าอบรมหลักสูตร ได้มีความตระหนักรู้และร่วมพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และ ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต สามารถแยกแยะประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมได้ มีความละอายและไม่ทนต่อการทุจริตทุกรูปแบบ นำไปสู่การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ การสงวน รักษา ฟื้นฟู พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้  และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

          นับว่าเป็นกุศโลบายที่ดีที่จะแทรกซึม บ่มเพาะปลูกความคิดในด้านการอนุรักษ์ และรู้จักการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยอาศัย การคิด วิเคราะห์ แยกแยะ เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเยาว์ เหมือนการปลูกต้นไม้ ที่กว่าจะได้ต้นไม้ใหญ่ที่มีความแข็งแรงต้องค่อยๆเริ่มจากการใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน จนต้นกล้าเล็กๆเหล่านี้เติบโตให้ร่มเงา มองว่าหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาก็เช่นเดียวกัน เป็นเสมือนการค่อย ๆ ปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้ได้ซึมซับการป้องกันการทุจริต หรือการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ หากผู้เรียนได้มีการเรียนรู้ และเล็งเห็นถึงประโยชน์ ก็จะเป็นการ “สร้างคน” ที่แข็งแรงเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองในวันข้างหน้าได้อย่างดี

          ปัจจุบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทรัพยากรธรรมชาติ ทางสำนักงาน ป.ป.ช.ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจตรา นั่นคือ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) หรือ แผนที่ดาวเทียม 3 มิติ มาใช้เฝ้าระวังและสังเกตการณ์การรุกล้ำพื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติของไทย ซึ่งระบบนี้สามารถเช็กได้ทันทีว่า มีการละเมิด การรุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ใดหรือไม่ หรือมีการใช้ที่ดินรัฐโดนมิชอบหรือไม่ ถือเป็นอีกวิธีการสำคัญที่จะได้ช่วยสอดส่อง จับตา ดูการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที แม้ในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก

          นอกจากการปลูกฝังแนวคิดและทัศนคติที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชนด้วยหลักสูตรต้านทุจริตแล้ว การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างสร้างผลประโยชน์ในการทุจริตคอร์รัปชันนั้น ประชาชนในพื้นที่ยังสามารถร่วมเป็นหูเป็นตาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเองได้ในนามของสมาชิกชมรม STONG จิตพอเพียงต้านทุจริต ซึ่งเป็นแนวร่วมป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่จะคอยช่วยเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลให้ทรัพยากรธรรมชาติไม่สูญหายไป ถือเป็นการผนึกกำลังสำคัญในระดับท้องถิ่นที่จะช่วยสร้างเกราะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้เป็นอย่างดี

          ส่วนประชาชนที่มีข้อมูลหรือต้องการแจ้งเบาะแสร้องเรียนปัญหาการทุจริต ก็สามารถร้องเรียนผ่านสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดทั่วประเทศได้ หรือที่สายด่าน ป.ป.ช. 1205 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะสนับสนุนให้เป็นพลังขับเคลื่อนป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ และอย่างน้อยข้อมูลเหล่านี้ ก็จะเป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การสืบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงที่จะหยุดยั้งกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันหรือพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่มิชอบด้วยกฎหมายได้โดยที่ทรัพยากรธรรมชาติไม่ถูกรุกล้ำหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

          ทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าเหล่านี้ ไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือข้ออ้างเพื่อหาผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง หรือ องค์กรใด ๆ แต่ควรเป็นสมบัติทางธรรมชาติของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันตระหนักรู้รักษ์ ฟื้นฟูหวงแหน ช่วยกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้ห่างไกลจากทรัพยากรธรรมชาติด้วยหนึ่งสมองสองมือของพวกเราทุกคน และอย่าปล่อยปะละเลยให้แต่ละวันผ่านไปโดยไม่ทำอะไรเลยหรือนิ่งเฉยกับการทุจริตคอร์รัปชัน มิฉะนั้นในอนาคตทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ คงหลงเหลือให้ลูกหลานคนไทยได้ดูเพียงแค่ในหนังสือเท่านั้น

Related