Contrast
Font
352cc0c85ca03d1c7ab9a4407dc77f6b.jpg

ป.ป.ช. ส่งสัญญาณ “บริจาคให้พรรคการเมือง” ควรศึกษาข้อกฎหมาย ก่อนกลายเป็น “สินบน”

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 1051

25/05/2566

          สำนักงาน ป.ป.ช. ส่งสัญญาณถึงภาคเอกชนให้พึงระวัง “การบริจาคเพื่อพรรคการเมือง” ควรศึกษาข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ลดความเสี่ยงเข้าข่ายการให้สินบน เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันการถูกยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมือง พร้อมส่งคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคล เพื่อป้องกันการภาคเอกชน เข้าข่ายให้สินบนซึ่งมีความผิด  

          นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เรื่องของการสนับสนุนพรรคการเมืองถือว่าเป็นสิทธิที่บุคคลพึงกระทำได้ตามความประสงค์ ที่อยู่ในกรอบของหลักกฎหมาย ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช.ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานของรัฐให้พึงปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ความสำคัญไปถึงภาคเอกชนนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติภายใต้หลักบรรษัทภิบาล ป้องกันความเสี่ยงที่จะเข้าข่ายทุจริตให้สินบน เช่นเดียวกับกรณีการสนับสนุนการดำเนินการของพรรคการเมือง ที่ต้องอยู่ภายใต้หลักของกฎหมาย และหลักการบริหารจัดการที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคล เนื่องจากอาจเข้าข่ายเป็นการจูงใจให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามนิยามของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งแม้ว่ากฎหมายไทยจะไม่ได้ห้ามนิติบุคคลบริจาคเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง แต่ก็ต้องคำนึงหลักกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพื่อไม่ให้เข้าข่ายการให้สินบน รวมทั้งพรรคการเมืองก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เนื่องจากเสี่ยงมีความผิดถูกยุบพรรค หรืออาจถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้

           ในกรณีที่ภาคเอกชนมีความประสงค์จะบริจาคเพื่อพรรคการเมือง ควรศึกษาคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมสำหรับนิติบุคคล ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้ภาคเอกชนนำไปปรับใช้เป็นแนวทางในการควบคุมภายในองค์กรให้การประกอบธุรกิจเป็นไปด้วยความโปร่งใส ซึ่งเนื้อหาจะรวมถึงแนวทางในการบริจาคเงินแก่พรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

          การที่กฎหมายได้วางหลักการในการบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองไว้ด้วยเหตุที่ว่า การรับเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองในลักษณะนี้ อาจนำมาซึ่งโอกาสในการครอบงำหรือชี้นำพรรคการเมืองให้ใช้อำนาจทางการเมืองของตนกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้บริจาครายนั้น ๆ ดังนั้น ข้อกำหนดในกฎหมายจึงเป็นการป้องกันเหตุดังกล่าวข้างต้น เช่นใน มาตรา 66 วางหลักไว้ว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาท ต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว รวมทั้งพรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทมิได้" หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนรับบริจาค มีโทษปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง 5 ปี โดยการกำหนดยอดเงินบริจาคที่สิบล้านบาทนี้ เพื่อป้องกันการบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อครอบงำหรือเรียกร้องข้อแลกเปลี่ยนต่อกัน เป็นต้น

          ตลอดจนมาตรา 64 ที่วางหลักว่า การหารายได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมืองต้องกระทำโดยเปิดเผย และแสดงวัตถุประสงค์ว่าเป็นการระดมทุนของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน ให้หัวหน้าพรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงจำนวนและที่มาของเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาจากกิจกรรมดังกล่าว และให้มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบด้วย ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กิจกรรมดังกล่าวสิ้นสุดลง รวมทั้งต้องประกาศและมีหนังสือแจ้งระบุชื่อบุคคลผู้สนับสนุนเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าหนึ่งแสนบาทขึ้นไปด้วย

 

          ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก “คู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม” ในเว็บไซต์ www.nacc.go.th

 

ที่มา : http://www.krisdika.go.th/librarian/get?sysid=793682&ext=pdf

https://ilaw.or.th/node/5560

Related