Contrast
Font
0389bbe361e341eaefd2df351ff6ccfd.jpg

กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย อีกหนึ่งความร่วมมือในการปราบคอร์รัปชัน

จากไชต์: สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ
จำนวนผู้เข้าชม: 193

21/09/2566

ด้วยสถิติตัวเลขคำร้องเรียนที่เข้ามายังสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 9,762 เรื่อง สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการทุจริตยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยืนยันด้วยตัวเลขมูลค่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เกิดผลจากการดำเนินงานของ ป.ป.ช. คิดเป็นมูลค่า 40,483.10 ล้านบาท  จาก 3 เรื่อง คือ การปราบปรามการทุจริต  การตรวจสอบทรัพย์สิน ที่ได้มาโดยมิชอบที่ให้ตกเป็นของแผ่นดิน กรณีตรวจสอบคนร่ำรวยผิดปกติ และการป้องกันการทุจริต ซึ่งไม่รวมการทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบอื่น ที่อยู่นอกเหนือการตรวจสอบของ ป.ป.ช. อันสะท้อนถึงความเสียหายที่มีมูลค่ามหาศาลจากการโกง

สำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามหาวิธีการและกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการปราบปรามทุจริตให้เท่าทันกับปัญหาการคอร์รัปชัน ที่มีแนวโน้มซับซ้อนและเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ป.ป.ช. กำลังเดินหน้าตั้งศูนย์ CDC การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน มิติใหม่ ด้วยงานบูรณการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียแก้ปัญหาทุจริตเชิงรุกอย่างเป็นระบบ ภายใต้หลักการ “ร้องเรียนวันนี้ พรุ่งนี้ตรวจสอบทันที”

การต่อต้านการทุจริตของประเทศไทย มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจาก หลายองค์กร หลายภาคส่วน เพื่อรวมพลังกันแก้ปัญหา ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง ดังนั้นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ  หนึ่งในนั้นคือ กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (Thai Corporate Governance Fund) หรือ Thai  CG  Fund                                                                                        

อีกหนึ่งหน่วยงานที่ จะสร้างเสริมธรรมาภิบาลและส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการ โดยสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ด้วยหลักของ "การมีส่วนร่วม" ในการสร้างนวัตกรรมซึ่งเป็นทางออกและความหวังที่จะช่วยสร้างสังคมปลอดทุจริตได้อย่างแท้จริง

กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่มีการบริหารจัดการที่ดีและโปร่งใส โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมสนับสนุนกองทุนยกระดับตลาดทุนไทยในประเด็นธรรมาภิบาล (Good Governance) และตระหนักในความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านผู้บริหารกองทุนจาก  11 บริษัทจัดการกองทุนรวม 13  กองทุน ที่มอบเงินจำนวน 40% ผ่านให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อสนับสนุนคนทำงานที่ทำโครงการ หรือกิจกรรมในการสร้างจิตสำนึก เรื่องการเป็นหูเป็นตา ในการสร้างวัฒนธรรม การไม่ยอมรับการโกงในทุกรูปแบบ รวมทั้งการสร้างเครื่องมือป้องกันการโกง

การดำเนินการของกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ตลอดระยะเวลา 5 ปี มีมากกว่า 20 โครงการ เช่น ระบบฐานข้อมูลเปิดเป็นข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คำชี้ข้อมูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ข้อมูลการบังคับใช้กฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น  โดยมีการแบ่งโครงการออกเป็น 3 ส่วน คือ  โครงการปลูกฝัง โครงการป้องกัน และ โครงการเปิดโปง

โครงการปลูกฝัง เช่น โครงการจากกลุ่มนิสิต คณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติจากจุฬาฯ ชื่อโครงการRead to Kid ให้เด็กอ่าน... ให้เด็กคิด โดยการสร้างรูปแบบการสื่อสาร ทำหนังสือ ชุดนิทาน “คนเก่งไม่โกง...คนโกงไม่เก่ง”สำหรับเด็กชั้นประถมต้นเพื่อที่จะสร้างจิตสำนึกและสร้างบรรทัดฐานให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงผลเสียของการคอร์รัปชัน ให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดระหว่างอ่าน  ประสานงานกับโรงเรียนเครือข่าย 154 โรงเรียนทั่วประเทศ ในการกระจายหนังสือดังกล่าว ผลที่ได้รับ มีการพัฒนาด้านความสุจริตสูงที่สุด รองลงมาคือด้านความกล้าแสดงออก ในส่วนของครูพบว่ามีทัศนคติด้านความซื่อสัตย์และทัศนคติด้านบวกต่อสังคมเพิ่มขึ้นมากที่สุด

โครงการด้านการป้องกัน คือ โครงการ Big Open Data เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน เมื่อ AI ถูกนำมาใช้ในการต่อต้านคอร์รัปชัน จุดมุ่งหมายในการสร้างชุดข้อมูลและเครื่องมือการวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่จะเป็นรากฐานในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นสังคมที่ปลอดคอร์รัปชันในที่สุด อีกทั้งจะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เปิดให้ประชาชนใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเชื่อว่าปัญหาการทุจริต บางอย่างจะหมดไป  เช่น การหักค่าหัวคิวหรือเก็บเงินใต้โต๊ะ ที่พ่อค้าและนักธุรกิจกว่า 80% ต้องสูญเสียเงินให้กับการคอร์รัปชันในประเทศไทยสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาทในแต่ละปี

โครงการด้านการป้องกัน อีกโครงการ คือ โครงการส่งเสริมความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม อ.จะนะ จ.สงขลา จากคนในชุมชนโดย 'เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น' ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของภาคีภาคประชาชนในอำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียง มีตัวแทนจาก 14 ตำบล ในการสร้างธรรมาภิบาลในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ให้ชุมชนสามารถใช้พลังของข้อมูลมาเพื่อสร้างการสื่อสาร ส่งเสริมความเข้มแข็ง เชื่อมโยงฐานทรัพยากรชุมชน วิถีชีวิต ภูมิปัญญา เข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ให้คนในสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตระหนักรู้ข้อมูล ร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาชุมชนได้อย่างตรงจุด

ส่วนโครงการด้านการเปิดโปง ขณะนี้ยังไม่มีโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน ดังนั้น ใครมีโครงการดี ๆ สามารถนำเสนอเข้ามาได้

จะเห็นว่า กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ไม่ใช่แค่เพียงความร่วมมือของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จำนวน 11 บริษัท หรือ ร้อยละ 90 ของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ในประเทศไทยเท่านั้น หรือไม่ใช่การลงทุนเพื่อหวังสิ่งตอบแทน เหมือนกองทุนที่ปกติทำกัน แต่เป็นโครงการภาคเอกชนที่มีเจตนาดี ในการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมได้ลงทุนในโครงการที่ดี และผู้บริหารกองทุนให้เม็ดเงินบางส่วนยังช่วยในการต่อต้านการทุจริตด้วย เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนเป็นสังคมที่ดีขึ้น

การลงทุนในกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย จะแสดงให้เห็นพลังของประชาชน ที่ให้การสนับสนุนการปราบโกง อีกหน่วยงานหนึ่ง ลงทุนเพื่อสังคมไทยที่ไร้การทุจริตเกิดได้จริง เป็นโอกาสที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

Related